Quantcast
Channel: หนังไทย – MThai Movie
Viewing all articles
Browse latest Browse all 1404

Interview –จักรวาล นิลธำรงค์ : ศิลปะ ธรรมะ และความเป็นครู

$
0
0

Interview

จักรวาล นิลธำรงค์
ศิลปะ ธรรมะ และความเป็นครู

โดย กองบรรณาธิการ BIOSCOPE

จักรวาล นิลธำรงค์ 01

จากชีวิตศิลปินแนววีดีโออาร์ตที่ต้องเดินทางแสดงงานตามประเทศต่างๆ สู่การลงหลักปักฐานในฐานะอาจารย์กลุ่มวิชาภาพยนตร์และภาพถ่าย นั่นคือสิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนของ จักรวาล นิลธำรงค์ ตลอด 5 ปีในการทำหนังยาวเรื่องที่สองของตนอย่าง Vanishing Point หนังรางวัล Tiger Award (ร่วมกับ La obra del siglo ของ Carlos M. Quintela และ Videophilia (and Other Viral Syndromes) ของ Juan Daniel F. Molero) จากเทศกาลหนังร็อตเตอร์ดามปีล่าสุดนี้

ชีวิตที่เขาเลือกคือการประนีประนอมเพื่อให้หนังเรื่องนี้ได้เสร็จสิ้นในที่สุด หากในฐานะศิลปินแล้วจักรวาลไม่เคยประนีประนอมกับงานที่ออกมา จากพื้นที่หอศิลป์และมิวเซียมสู่การฉายในโรงอย่างเป็นทางการครั้งแรก …Vanishing Point จะมีเส้นเรื่องคร่าวๆ ว่าด้วยตัวละครชาย 3 วัย ตั้งแต่หนุ่มช่างภาพข่าว, เจ้าของโรงงานวัยกลางคน และพระสงฆ์วัยชรา ที่ต่างก็มีอดีตที่หลบหนีจากมาและต่างหาหนทางคลี่คลายในรูปแบบของตนเอง โดยทั้งหมดที่ว่านั้น ถูกเล่าโดยเว้นพื้นที่ว่างไว้ เพื่อให้ผู้ชมเชื่อมโยง ตีความ และปะติดปะต่อเรื่องราว ที่ทั้งหมดอาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวข้องกันเลยก็ได้

หลังอาศัยช่วงเวลาปิดเทอมและสิ้นสุดการเดินสายตามเทศกาลหนัง จักรวาลตัดสินใจเดินสู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์แบบชั่วคราวก่อนสึกออกมาทำหน้าที่ทางโลกของตนอีกครั้ง นั่นจึงทำให้บทสนทนาครั้งนี้ เลยไปไกลไปตั้งแต่เรื่องศิลปะ การปฎิบัติธรรม ไปจนถึงความตาย…ในบรรยากาศการสนทนาบนรถยนต์ระหว่างทางกลับบ้าน ที่คล้ายคลึงกับหลายๆ ฉากในหนังเรื่องนี้เสียเหลือเกิน

Vanishing Point

รูปจาก Vanishing Point

– การเป็นคนทำหนังทดลองมันมีอิทธิพลมากจาการไปเรียนที่ต่างประเทศหรือเปล่า

ตอนที่เราไปฉาย Vanishing Point ที่สิงคโปร์ คือคนจัดเทศกาลเขาดูแล้วก็รู้ว่าหนังเรามันมีความยากอยู่ เขาก็เลยต้องนั่งคิดว่าจะนำเสนอตัวเราให้ผู้ชมเข้าใจได้อย่างไร สุดท้ายเขาก็เลือกที่จะแนะนำว่า นี่เป็นหนังที่ทำโดย visual artist ดีกว่า ซึ่งมันช่วยปรับในแง่ความคาดหวังของคนดูได้ในระดับหนึ่งด้วย คือมันทำให้คนดูชัดเจนว่าจะไม่ได้เจอหนังในรูปแบบปกตินะ

– เรารู้สึกยังไงที่เขานำเสนอตัวเราว่าเป็นศิลปิน มากกว่าความเป็นคนทำหนัง

เราว่ายังไงก็ได้ (หัวเราะ) คือมันเป็นสิ่งที่สมมติขึ้นมาทั้งนั้น คือถ้าสมมติว่าเราต้องสมมติตัวตนเพื่อให้คนอื่นเข้าใจตัวเราได้มากขึ้น ต้องบอกคนดูว่า นี่เป็นภาพยนตร์ขนาดยาวที่ทำโดยศิลปิน (นิ่งคิด) คือโดยส่วนตัว เราอยากทำให้มันชัดเจนประมาณหนึ่งถึงการบอกว่ามันคือหนังแบบไหนหรือใครคือกลุ่มคนที่จะมาดู อย่างตอนที่เรามานั่งคิดชื่อภาษาไทย คือพยายามคิดอยู่นานจนสุดท้ายก็ใช้ทับศัพท์ว่า ‘วานิชชิ่ง พอยท์’ ไปเลย เพราะเรารู้สึกว่าหนังแบบนี้เด็กมัธยมก็คงไม่มาดูอยู่แล้วแน่ๆ และเราก็ไม่ได้อยากหลอกใครมาดูแล้วก็ไม่ชอบหนังกลับไป คือคำว่า Vanising Point สำหรับคนดูหนังคนทำหนัง หรือคนที่ทำงานด้านศิลปะ ก็เป็นคำที่เขาสามารถเข้าใจได้อยู่แล้ว

Vanishing Point (1971)

Vanishing Point (1971) ของ ริชาร์ด ซี ซาราเฟียน

– คำว่า Vanising Point ในหนังเรื่องนี้มันมีความหมายว่ายังไงบ้าง

คือมันแปลว่า ‘จุดนำสายตา’ ก็ได้ หรือจะแปลตามความหมายของคำว่า Vanising ที่แปลว่าหายไป มันก็คือ ‘จุดที่มันหายไป’ ถ้าสมมติชีวิตเราเป็นเส้นตรง นี่คือจุดที่ชีวิตมันจะหายไป มันคืออีกหลักไมล์ของชีวิตที่เมื่อมาถึงตรงนี้ มันก็จุดจบของมัน ซึ่งพอมันมีสองความหมายแบบนี้ เราคิดว่ามันน่าจะสามารถอธิบายความหมายของหนังได้ดีกว่า ตั้งแต่เริ่มคิดโปรเจ็กต์นี้ในตอนแรก

อย่างหนังเรื่องนี้มีฉากขับรถเยอะ ซึ่งมันอาจจะไปล้อกับหนัง Vanishing Point (1971 – นักแอ็กชั่นโร้ดมูฟวี่สุดคลาสสิก ที่โดดเด่นด้วยฉากขับรถไล่ล่าบนถนนที่มีฉากหลังเป็นทะเลทรายสุดเวิ้งว้าง) ของ ริชาร์ด ซี ซาราเฟียน ซึ่งในหนังก็จะมีฉากที่ใช้เส้นขอบฟ้าเป็นเปอร์สเปคทีฟยาวๆ หรือแม้แต่มุมกล้องที่ถ่ายจากด้านหน้าเข้าหาคนขับก็มีเหมือนกัน

คือไอเดียเริ่มแรกของหนังมันมาจากรูปที่เราเห็นในโปสเตอร์นั่นละ มันคือภาพอุบัติเหตุรถของพ่อกับแม่เราที่โดนรถไฟชน คือสมัยนั้นมันไม่มีที่กั้นทางรถไฟ บวกกับพ่อก็คงเมาด้วย น่าจะเป็นจังหวะที่ขับไปจอดแถวๆ ทางรถไฟพอดี ก็โดนรถไฟชนโครม! ซากรถกระเด็นไปตกข้างทาง ซึ่งรูปมันก็ถูกนักข่าวถ่ายเอามาลงหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ฉบับวันรุ่งขึ้น ปรากฏว่าก็มีญาติคนหนึ่งตัดเก็บเอามาใส่ไว้ในห้องเรา

Poster Vanishing Ponit-OK_Created

โปสเตอร์หนัง Vanishing Point ซึ่งใช้รูปจากข่าวอุบัติเหตุทางรถยนต์ของพ่อและแม่จักรวาล

– ตัดรูปนี้เอามาใส่ไว้ในห้อง ?

(หัวเราะ) คือคนสมัยสามสิบปีที่แล้วก็คงอารมณ์ประมาณตื่นเต้นได้ลงหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ แล้วพี่ก็โตมากับไอ้ภาพๆ นี้ จนคนตัดมาให้คงลืมไปแล้ว แต่เวลาที่เราไปรื้อๆ ของในห้องก็ยังเจอมันอยู่เรื่อยๆ คืออุบัติเหตุครั้งนั้นมันเปลี่ยนชีวิตครอบครัวเราไปเลย คือพ่อเองก็ได้รับการกระทบกระเทือนทางสมอง จากที่กำลังจะขึ้นเป็นนายพลก็กลายเป็นคนทำงานไม่ได้ จนเรามาทำหนัง เราก็อยากจะทำอะไรสักอย่างกับภาพๆ นี้ มันเป็นจุดที่ชีวิตมันเลี้ยวหักไป แล้วโชคชะตาของคนในบ้านมันเปลี่ยนหมดเลยจากแค่วันนั้นวันเดียว ทั้งหมดมันรวมกันมันเลยเป็นที่มาของคำว่า Vanising Point

– พี่มองความตายเป็นเรื่องใกล้ตัวเราแค่ไหนครับ

เอาเข้าจริงเรายังไม่เคยมีเหตุสูญเสียคนใกล้ตัวจริงๆ เลยนะ ความตายมันเลยเป็นเรื่องใกล้ตัวการฝึกสมาธิของตัวเองมากกว่า คือเวลาทำสมาธิเขาจะสอนให้ภาวนา ภาวนาว่านี่คือช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต เราจะครองสติอยู่ได้ไหม สมมติว่านั่งแล้วมันเจ็บจนต้องขยับตัว แต่เราลองทนเจ็บไปจนถึงจุดที่เราเจ็บที่สุด เป็นช่วงเวลาสุดท้ายที่สติกำลังจะหลุดออกไปแล้ว เราจะสามารถประคองสติให้อยู่กับตัวเองได้หรือเปล่า สติเรายังจะอยู่กับลมหายใจได้มากขนาดไหน คือเราเคยนั่งสมาธิ นั่งจนตัวแข็งเป็นหินไม่รู้สึกอะไรอีกแล้ว เป็นสภาวะที่เรารู้สึกว่าใกล้ความตายที่สุดแล้วสำหรับเรา ซึ่งถ้าเราสามารถนั่งมาถึงจุดนี้ได้ เราก็จะเข้าใจแล้วว่าที่เขามาฝึกนั่งสมาธิกันนี่เขาทำไปเพื่ออะไร

– การที่เราพาตัวเองไปสู่สภาวะใกล้ความตายมันให้อะไรกับเราบ้าง

มันเป็นสภาวะจำลองละนะ คือสมมติว่าเราโดนปืนยิง ปัง! โอ๊ยเจ็บมากเลย มันก็ต้องกลับมาอยู่กับลมหายใจให้ได้ เพราะเขาเชื่อกันว่าถ้าเราโวยวาย จิตมันก็จะตก เราก็จะหลนไปอยู่ในที่ๆ ไม่ดี ดำดิ่งไปสู่ที่ที่เราคิดคำนึงเป็นห้วงสุดท้าย แต่ถ้าเราประคองจิตได้ มันก็จะนำพาตัวเราไปสู่ที่ๆ มันสงบ

– ทำไมเราจงใจใส่ภาพศพหรือภาพอุบัติเหตุที่เราเห็นในตัวอย่างหรืออยู่ในต้นเรื่องของหนัง

ในภาษาพระมันคือ ‘ภาพอสุภะ’ คือการพิจารณาภาพจบ ลองเสิร์ชหาในกูเกิลได้เจอเพียบเลย สำหรับในมุมที่ใส่ไปในหนัง คือเราต้องการให้มองเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาซะ เพราะว่าในซีนต่อมาในหนัง มันก็เป็นซีนทำแผนประกอบคำรับสารภาพซึ่งเป็นซีนตลกๆ ด้วยซ้ำ เราอยากให้คนดูมองว่าเรื่องพวกมันเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้อย่างไม่ทันตั้งตัวด้วยซ้ำ

คือวิธีคิดของเราในตอนแรก ในซีนที่เป็นภาพอุบัติเหตุ เราจะได้ยินเสียงของกล้องดิจิตอล ซึ่งมันก็จะไปล้อกับซีนต่อมาที่เป็นนักข่าวเข้าไปเก็บภาพในบรรยากาศตอนทำแผน (แต่พอตัวช่างภาพกลับเป็นคนที่ประสบอุบัติเหตุเสียเอง ตัวเขาก็กลายเป็นคนที่ไปอยู่ในภาพข่าวเหล่านั้นแทน) มันก็คงเหมือนกับอุบัติเหตุของพ่อพี่ที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ภาพของตัวเองกลับไปอยู่ในข่าว

Vanishing Point 06

รูปจาก Vanishing Point

– ในซีนประกอบคำรับสารภาพ มีตัวละครตำรวจบอกผู้ต้องหาว่า ให้สมมติว่าตัวเองกำลังเล่นหนังสั้นอยู่ อันนี้คือเราตั้งใจเสียดสีหรือทำให้มันเหนือจริงหรือเปล่า

จริงๆ บทมันถูกเขียนขึ้นในลักษณะนี้ เพื่อให้คนดูรู้คิดไปว่า จริงๆ แล้วทั้งหมดคือการแสดงฉากหนึ่งก็ได้ โดยจริงๆ แล้วผู้กำกับมันก็คือตำรวจนี่แหละ แต่ปรากฏว่าเราเจอคลิปๆ หนึ่งที่เป็นการทำแผนแบบนี้เลย ตำรวจก็บอกว่า – เฮ้ย! มึงก็เล่นดีๆ ซิ คิดเสียว่ามึงกำลังเล่นหนังสั้นอยู่ – ชาวบ้านก็ร้องว่า เออ! ก็เลยเอาไดอะล็อกตรงนั้นมาใช้ในหนังด้วยเลย

– คือแม้แต่ชาวบ้านในคลิปที่เราเอามาใช้เป็นแรงบันดาลใจ ก็ยังรู้จักคำว่าหนังสั้น

ไอ้คำว่าหนังสั้นสำหรับเรา ยุคหนึ่งมันถูกใช้จนเฝื่อไปเลย อะไรๆ ก็ประกวดหนังสั้น คำว่าหนังสั้นมันเลยเป็นคำอธิบายที่แม้แต่ชาวบ้านก็ยังเข้าใจได้ด้วยนะ

– คือเราเห็นตัวละครหลายๆ ตัวในหนังพูอถึงการทำงานศิลปะ หรือแม้แต่เพลง ‘ลมเพ ลมพัด’ ของ มาลีฮวนน่า ที่นำมาใช้ประกอบในหนัง ก็พูดถึงคนทำงานศิลปะเหมือนกัน

คือเราเคยตั้งคำถามกับตัวเองละว่า ถ้าไม่มาเป็นอย่างทุกวันนี้ก็คงจะไปบวช แต่ทีนี่ถ้ายังอยู่ทางโลกเราจะทำอะไรให้มันเป็นประโยชน์ พี่ว่าการทำงานศิลปะมันอาจจะตอบคำถามเราได้ (อย่างในหนังก็จะมีตัวละครพระรูปหนึ่ง ซึ่งตอนท้ายสึกออกมาทำงานศิลปะ และก็ใช้ชีวิตแบบคนธรรมดา) คือมันก็ยังไม่ได้ให้คำตอบกับชีวิตเสียทีเดียวนะ แต่พี่คิดว่าสองอย่างนี้อาจจะเทียบคียงกันได้ อย่าง อ.ศิลป์ พีระศรี ยังเคยบอกเลยว่าศิลปะเป็นศาสนาได้เลย คือทั้งหมดมันก็สะท้อนไปที่คาเร็กเตอร์หลักทั้งสามตัวในหนัง VP มันสะท้อนความคิดในแต่ละช่วงวัยของเราว่าเป็นอย่างไร คือตัวละครช่างภาพข่าว เจ้าของโรงงาน และพระสงฆ์

หนังเรื่องนี้เขียนบทสองรอบนะ คือพอถ่ายไปแล้วรอบแรก เราก็เอาทั้งหมดมาดูก่อนจะเขียนบทเพิ่มไป (หนังใช้เวลากว่า 5 ปีในการทำงาน)

– คือชีวิตตลอด 5 ปีที่ทำเรื่องนี้ มันเปลี่ยนสิ่งที่เราต้องการเล่าในหนังไปด้วย

มีส่วนนะ มีครอบครัว มีลูกด้วย คือสิ่งที่เขียนไว้เมื่อ 5 ปีที่แล้วมันก็ไม่ได้อยากเล่าแล้ว

Vanishing Point

รูปจาก Vanishing Point

– ตอน 5 ปีก่อนเราอยากเล่าอะไร

ก็คือการตั้งคำถามกับตัวเองละว่า ทำไมถึงมาเป็นอาจารย์สอนหนังสือนี่ละ (นิ่ง) ถ้าเอาความคิดช่วงนั้นคงจะแทนได้กับตัวละครช่างภาพ คือตัวละครตัวนี้เป็นเหมือนคนที่อกหักจากอะไรบางอย่างมา แล้วเขาก็พยายามจะหาอะไรที่เป็นประโยชน์ทำ เช่นการเป็นนักข่าว ต้องมันเป็นอาชีพที่มีอุดมการณ์ ก็เหมือนพี่ที่เลือกมาเป็นอาจารย์สอนหนังสือ

แต่พอคิดไปคิดมา ไอ้ความรู้สึกที่อยากจะทำความดี คนอื่นไม่ได้อะไรหรอกนอกจากตัวเราเอง เหมือนเราเองก็เสพติดมัน คือไอ้ความคิดนี้มันชัดมากตอนที่เกิดสึนามิที่บ้านเรา ตอนนั้นเราอยู่เมืองนอก พอรู้ข่าวใจเรามันพุ่งกลับมาที่เมืองไทยเลยนะ อยากกลับมาช่วยมากๆ แล้งยิ่งตอนมาเจอน้ำท่วมบ้านตัวเองตอนปี 54 เราก็ได้ไปช่วยขนทรายขนอะไรต่างๆ มันก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกชัดเจนเลยว่า สิ่งเหล่านี้มันทำให้เรารู้สึกเป็นคนดี นั้นคือความรู้สึกที่เราเคยอยากจะเล่าในหนังตอนแรก

พอเวลาผ่านไป สิ่งที่เราอยากเล่าในหนังในถูกมองผ่านอีกตัวละครคือ เจ้าของโรงงาน เหตุผลหนึ่งก็คงเพราะเราแต่งงานมีลูก แล้วเราเริ่มเห็นตัวเราเองเป็น ‘พ่อ’ หมายถึงพ่อของเราเองที่เคยประสบอุบัติเหตุ เราต้องมาอยู่ในสภาวะที่พ่อเคยเป็นละ คือทำอะไรต้องรับผิดชอบ ซึ่งลูกเรากำลังมองเราอยู่ไปต่างจากตอนที่เราก็มองพ่อในตอนเด็กเหมือนกัน หรือแม้แต่การละทิ้งอุดมการณ์บางอย่างเพื่อที่จะอยู่กับปัจจุบัน ก็เหมือนกับตัวละครเจ้าของโรงงาน ที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ เพื่อมาทำข่าวที่นี้ ก่อนจะตัดสินใจละทิ้งอาชีพเดิมมาตั้งรกรากสร้างครอบครัวใหม่ โดยทิ้งทุกอย่างไว้ที่กรุงเทพฯ คือเหมือนหนีอะไรบางอย่างเพื่อมามีชีวิตที่ดีแต่ก็น่าเบื่อที่นี่ ซึ่งความน่าเบื่อก็ออกมาในบรรยากาศครอบครัวที่พ่อแม่ลูกก็ไม่ค่อยได้คุยกัน

จักรวาล นิลธำรงค์ 02

– ทำไมเราถึงเลือกที่จะทำให้ทั้งสองตัวละครมีจุดเชื่อมโยงกันบางอย่าง

มันอาจจะย้อนไปถึงผลงานที่ผ่านมาอย่าง Unreal forest ซึ่งก็มีการซ้อนทับกันของแต่ละตัวละคร ซึ่งในหนัง VP มันก็มีไดอะล็อกของพระที่พูดว่า คนในอดีตกับคนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็อาจจะไม่ใช่สิ่งเดียวกัน หรือคนๆ เดียวกันก็ได้ มันก็เหมือนอาหารกับอุจจาระ แม้จะเป็นสสารเดียวกัน แต่ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกันอีกแล้ว คือมันจะว่าใช้ก็ได้ จะว่าไม่ใช่ก็ได้ เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่เราเลือกว่าอดีตมันใช่สำหรับปัจจุบันหรือเปล่า

มันอาจจะพูดไปถึงสิ่งที่เรากำลังจะทำในอนาคตด้วยก้ได้ คือหนังเรื่องนี้เรากำลังพูดเรื่องของพ่อเป็นหลัก ด้วยสภาวะของตัวเองในปัจจุบัน มันเลยเหมือนเป็นกระจกมาสะท้อนตัวเอง แต่ในอีกเรื่องที่กำลังเขียนบทอยู่มันคือในอีกมุมคือมุมของแม่ ซึ่งใน VP เองก็เป็นมุมที่ไม่ได้เล่าว่า ทำไมคู่ชีวิตอีกคนหนึ่งถึงยอมทนอยู่กับความทุกข์มากขนาดนี้

Unreal forest (2010)

Unreal forest (2010, 70 นาที) หนังเรื่องแรกของจักรวาล ว่าด้วยเรื่องของชาย 2 คน (หรือ 3 คน -ซึ่งจักรวาลตั้งใจทิ้งให้คนดูตีความ) ที่ทั้งหมดต่างมาจากวิญญาณดวงเดียวกัน โดยแต่ละคนถูกใช้แทนช่วงชีวิตของมนุษย์ในช่วงวัยหนุ่มจนถึงวัยชรา เพื่อนำเสนอความทุกข์ของแต่ละช่วงวัยที่ต้องผ่านพ้นข้ามมันไปให้ได้ – หนังถ่ายทำในประเทศแซมเบียและแสดงโดยสามนักทำหนังท้องถิ่น

– ในหนังเองก็มีตัวละครหญิงแก่ ซึ่งไม่ได้ถูกระบุชัดเจนโดยตรงว่าคือใคร

คือตัวละครนี้มีมาตั้งแต่บทดราฟต์แรกๆ เลย คือมันมีที่มาจากงานวีดีโออาร์ตของเราที่ชื่อ Immortal Woman (2010 – มีให้ดูในยูทูบ) ที่เล่าถึงหญิงคนหนึ่งซึ่งถูกสาบให้เป็นอมตะและต้องคลอดลูกตลอดชีวิต ซึ่งพี่ได้แรงบันดาลใจมาตอนอยู่ที่ฮอลแลนด์ เพราะที่นี่เป็นเพียงไม่กี่ที่ในโลกที่อนุญาตให้คนฆ่าตัวตายได้อย่างถูกกฏหมาย เช่นเราป่วยหนังจนทนไม่ไหว เราสามารถขอให้หมดฉีดยาฆ่าตัวตายได้ สำหรับพี่เลยตั้งคำถามว่า แล้วเรื่องศีลธรรมละ ศีลธรรมมันครอบคลุมกฏหมายด้วยหรือเปล่า คือสองอย่างนี้ไม่น่าจะแยกออกจากกันได้ พี่ก็เลยคิดไปถึงว่า ถ้ามันมีใครสักคนถูกสาบให้ไม่สามารถตายด้วบวิธีธรรมชาติได้ สุดท้ายแล้วเราจะถือว่าเขาเป็นมนุษย์ได้อีกหรือเปล่า เพราะมนุษย์มันต้องเกิด ต้องเจ็บ ต้องตาย ซึ่งแนวคิดนี้มันก็ถูกใช้ใน VP ด้วย แต่ถูกเล่าผ่านพระ ซึ่งเล่าเรื่องการมีความฝันที่เข้าไปเกิดในความทรงจำของชายหนุ่มอีกคนหนึ่งอีกที มันก็ถูกซ้อนทับเข้าไปอีกว่า ตกลงมันเป็นความฝันของตัวพระเอง หรือเป็นความฝันของใครอีกคนนั้น

รูปจาก Vanishing Point

รูปจาก Vanishing Point

– พอหนังมันถูกผ่านการเขียนบทถึงสองครั้ง อีกทั้งมี 3 ตัวละครหลักที่ถูกแทนชีวิตและแนวคิดในช่วงต่างๆ เรามีวิธีเล่ายังไงจากสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่

เอาเข้าจริง เราไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้เลยนะ คือพอหนังมันเริ่มมาจากการทำงานศิลปะ มันเลยไม่ได้มีเป้าหมายเลยว่าจะทำให้คนดูเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดได้ยังไง แต่มันเหมือนกับว่าเราทำหนังเรื่องนี้ แล้วเรามองเห็นตัวเองในหนังด้วยหรือเปล่า มองเห็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นหรือเชื่อว่ารู้สึกอย่างนั้น ในแต่ละช่วงเวลาของชีวิตได้หรือเปล่า

อย่างตัวละครพระ มันก็เกิดมาจากบทสนทนาระหว่างเรากับพี่โก้ (ชาติชาย ไชยยนต์) ที่เป็นโปรดิวเซอร์ในหนังเรื่องนี้ ก็นั่งกินเหล้าคุยกัน ตอนนั้นก็ยังวัยรุ่นอยู่ อกหักเลิกกับแฟน พี่โก้ก็บอกว่า –ถ้ามึงอยากเป็นศิลปิน มึงต้องมีเมียเป็นโสเภณี- ก็คือว่าตอนนั้นที่แฟนเก่าทิ้งเราไป เพราะเราเองก็ยังไม่ได้มีความมั่นคงในชีวิต อนาคตจับต้องไม่ได้ ยังคงเดินทางไปกลับต่างประเทศเพื่อทำงานศิลปะ ไม่ได้แนวคิดจะลงหลักปักฐานจริงจัง ซึ่งประโยคนี้มันก็ถูกใช้เล่าในหนังผ่านตัวละครพระ ที่สุดท้ายพอสึกออกมา ก็ได้มาพบรักกับอดีตโสเภณีสาวใหญ่ แล้วก็ได้ใช้ชีวิตทำงานศิลปะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข แม้มันอาจจะไม่ใช่ความสุขแบบหนุ่มสาวก็ตาม

– สนใจตรงที่ แม้หนังจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับธรรมะเยอะมาก แต่ในขณะเดียวกันมันก็ถูกเล่าผ่านตัวละครซึ่งก็ไม่ได้ขาวสะอาดและก็ไม่ได้ยี่หระต่อการทำสิ่งที่ไม่ดี

มันคือแก่นของธรรมะเลย เมื่อเราเปลือกทางสังคมออกว่า ธรรมะคืออะไร พุทธศาสนาคืออะไร ยูนิฟอร์มของพระคืออะไร เราก็จะเห็นว่า จริงๆ ธรรมะมันพูดเรื่องการใช้ชีวิตอยู่อย่างไม่มีทุกข์ เท่านั้นเลย

– โดยไม่ต้องสนหลักคำสอนทางพุทธศาสนาเลยหรือครับ

คือถ้าเราทำถูกหลักธรรมชาติ อันนั้นมันคือถูกหลักศาสนาอยู่แล้ว ธรรมมะ มันคือ ธรรมชาตินั่นละ แต่พอเราเอากรอบของขนบธรรมเนียมประเพณีทางสังคมมาครอบธรรมะไว้ ทุกอย่างมันก็ถูกทำให้ซับซ้อนเกินความจำเป็น

อย่างตอนที่เราไปบวช (พึ่งศึกออกมาได้ไม่นาน) เราไปจำวัดแห่งหนึ่งที่เขาใหญ่ เป็นวัดที่รายล้อมไปด้วยรีสอร์ตและบ้านคนเต็มไปหมด คือเขาใหญ่ที่เขาโฆษณาว่าเป็นแหล่งโอโซนอันดับ 6 ของโลก พวกเมียเรากับญาติก็ไปพักบ้านแถวนั้นตอนช่วงมาเยี่ยมมาทำบุญใส่บาตร จนมาถึงวันที่เราสึก เขาก็มานอนพักที่เขาใหญ่นั่นละ ก็เปิดแอร์นอนกันตามปกติ เราก็แบบมันเสียของหรือเปล่านะ แบบอยู่ในพื้นที่แบบนี้แต่มาเปิดแอร์นอน (หัวเราะ) เราก็นึกไปถึงคำสอนของอาจารย์ว่า คนเราไม่ค่อยนึกถึงความจริงของธรรมชาติ เราร้อนเราก็เปิดแอร์ หนาวก็เปิดฮีตเตอร์ แต่เราไม่เคยสัมผัสกับสัจจะของธรรมชาติจริงๆ ว่าร้อนหรือเย็นมันคืออะไร เนี่ยละคือธรรมะละ

รูปจาก Vanishing Point

รูปจาก Vanishing Point

– ทำไมถึงเลือกมาบวชหลังจากที่กลับมาจากเดินสายตามเทศกาลต่างๆ กับ VP แล้ว

คือเป็นสิ่งที่ตั้งใจไว้แต่แรกอยู่แล้วว่าพอหนังเสร็จเราอยากจะบวช คือรู้ว่าหนังเสร็จแน่ๆ ตอนได้ทุนโพสต์โปรดักชั่นจากร็อดเตอร์ดาม ก็รอจนกว่าหนังจะเดินทางไปตามเทศกาลจบ บวกกับช่วงปิดเทอมพอดี ก็เลยได้บวชครั้งแรกในชีวิตสักที

– จริงๆ แล้วเริ่มศึกษาพุทธศาสนาตั้งแต่เมื่อไหร่

ก็ตั้งแต่ตอนเรียนที่ศิลปากร คือตอนนั้นเราทำงานศิลปะก็เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาอยู่แล้ว จนมาเริ่มรู้สึกว่าเราเรียนผ่านตัวหนังสือไม่พอ ต้องปฏิบัติด้วย คือเวลาเราศึกษาธรรมะผ่านตัวหนังสือหรือแม้แต่ฟังพระเทศน์ก็ตาม เราก็จะ ‘เข้าใจ’ เข้าใจในภาษาพระมันแปลว่า ‘สัญญา’ สัญญาคือความจำ ความจำมันก็คือประจุไฟฟ้าเล็กๆ ในสมอง ก็เป็นธาตุๆ หนึ่งในตัวเรา ซึ่งธาตุทั้งหมดในตัวเรา ดิน น้ำ ลม ไฟ มันเสื่อมได้ เราเป็นอัลไซเมอร์เราก็จำอะไรไม่ได้แล้ว

ดังนั้นการไปปฎิบัติธรรมสำหรับเรามันคือการไปมีประสบการณ์ร่วม มันเหมือนศิลปะแบบโพสต์โมเดิร์นที่เราจะต้องเข้าไปมีประสบการณ์ร่วม มันคือการทำให้ ‘เข้าไปในใจ’ ไม่ได้เข้าไปในเนื้อสมองนะ เหมือนเข้าไปชมงานศิลปะแบบรีเรชั่นนอลอาร์ต (Relational art หรือ Relational Aesthetics แปลว่า สุนทรียศาสตร์เกี่ยวเนื่อง) ที่คนต้องเข้าไปมีส่วนร่วม เหมือนงานของพี่ฤกษ์ฤทธิ์ (ตีระวนิช) ที่คนไปดูได้ไปนั่งกินผัดไทยด้วยกัน ซึ่งสิ่งที่เราได้ไปเจอตอนปฏิบัติมันใกล้กับคำว่าศิลปะมากๆ เลย

แต่แปลกนะ พอหลังจากบวชแล้ว เรากลับสนใจในศาสนาอื่นมากขึ้น เริ่มสนใจว่าศาสนาอื่นมันมีสภาวะแบบนี้ไหม กลายเป็นว่าคำตอบที่เราสงสัยมันสามารถตอบคำถามผ่านทุกสิ่งได้ ผ่านต้นไม้ อากาศ ฝน น้ำ ธรรมชาติ ทุกศาสนาตอบได้เหมือนกันเลย

– คือเหตุผลที่พี่อยากเข้าหาศาสนา คือต้องการรู้จักมันจริงๆ มากว่าจะเข้าไปเพื่อดับทุกข์

มันคือเหตุผลที่สำคัญมากๆ ว่าทำไมเราถึงเลือกที่จะบวชเมื่อตอนเป็นผู้ใหญ่แล้ว คือถ้าเราบวชตอนเป็นเด็กมันคือการบวชตามประเพณี แต่ถ้าเราคิดได้ในระดับหนึ่ง รู้ว่าเรากำลังตั้งคำถามกับอะไร มันเลยทำให้เราสามารถตั้งมั่นกับการบวชได้ดีกว่า

รูปจาก Vanishing Point

รูปจาก Vanishing Point

– ที่พี่บอกว่า ศาสนา กับ ศิลปะ มันใกล้กันมากๆ จริง มันทดแทนกันได้หรือเปล่า

คือมันใกล้กันเฉยๆ แต่มันไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกัน มันจึงแทนกันไม่ได้ คือ แม้กระทั่งศาสนาอื่นๆ ก็ตาม ปัญหาของมันคือเรื่อง ‘ภาษา’ หรือการให้คำจำกัดความ เพราะว่าเวลาที่เราอยู่ในพื้นที่อื่นของโลก เวลาเราจะถามว่าสิ่งหนึ่งสามารถแทนอีกสิ่งหนึ่งได้ไหม เราถูกแทนด้วยภาษา แต่บางทีภาษามันสื่อแทนกันไม่ได้ โดยเฉพาะในสภาวะที่ใกล้กัน หากมันถูกแทนด้วยภาษา เช่นคำว่า nirvana เราหาคำนี้ในภาษาอังกฤษมันไม่มีนะ แต่มันถูกแทนด้วยคำอื่นๆ เช่น to integrity หรือ whitelight ซึ่งสุดท้ายมันก็เป็นข้อจำกัดของภาษาศาสตร์อยู่ดี

– กลับมาที่เรื่องหนัง ก่อนหน้านี้ที่เราทำหนังในสายทดลอง หรือเป็นแนวศิลปะสื่อผสม ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระแสหลักหรือการนำเอาหนังเข้าฉายโรง ทำไมกับเรื่อง VP เราถึงอยากนำมันเข้ามาสู่ระบบการฉายปกติเป็นครั้งแรก

จริงๆ มันเป็นเป้าหมายตั้งแต่ตอนเรียนจบแล้วว่าเราจะทำหนัง คือเรารู้แล้วว่าถ้าเราเป็นคนทำงานศิลปะจริงๆ จะมีชีวิตยังไง อาจจะไม่ค่อยได้อยู่เมืองไทย ต้องเดินทางไปต่างประเทศเพื่อแสดงงานไปเรื่อยๆ แต่ด้วยข้อผูกมัดเรื่องครอบครัวทั้งพ่อและแม่อะไรทั้งหมดแล้ว การทำหนังมันคือทางออกที่ประนีประนอมที่สุดแล้วในความคิดของเรา ซึ่งทั้งหมดมันถูกคิดมาตั้งแต่ก่อนเราเป็นอาจารย์สอนภาพยนตร์ที่ธรรมศาสตร์แล้วด้วยซ้ำ

– คือการทำหนังมันทำให้เราได้ใกล้ชิดครอบครัว และยังได้ทำงานศิลปะในแบบที่เราอยากทำด้วย

ใช่ๆ คือเราเคยไปอาศัยอยู่ในอเมริกา เสร็จแล้วก็ไปอยู่ฮอลแลนด์ รวมเวลาทั้งหมด 7-8 ปี พอกลับมาเมืองไทย เฮ้ย แม่เราแก่แล้วนะ เกษียณแล้วนะ จะกลับไปเมืองนอกก็คงเห็นแก่ตัวไปหน่อย

รูปจาก Vanishing Point

รูปจาก Vanishing Point

– แล้วการตัดสินใจมาเป็นอาจารย์ จริงๆ เหตุผลหนึ่งมันคือเรื่องความมั่นคงในชีวิตด้วยหรือเปล่า

เรานับถือคนที่ทำหนังเป็นอาชีพนะ ที่นอกจากทำหนังได้แล้ว ยังสามารถนำเม็ดเงินเข้ามาเลี้ยงผู้คนในวงการได้ด้วย ซึ่งเอาเข้าจริงมันเป็นหนทางที่ยั่งยืนกว่า แต่พอมาตัวเรามาเป็นอาจารย์สอนภาพยนตร์ มันเป็นการถือภาระคนละแบบ คือถ้าเราสอนหนังแล้วไม่ทำหนัง เราจะมีหน้าไปบอกเด็กได้ยังไงว่า เฮ้ย มึงเรียนจบแล้วต้องทำหนังนะ คือจะเป็นอาจารย์สอนหนังแล้วไปทำโฆษณาเพื่อเลี้ยงตัวด้วยมันก็ไม่ใช่ คือเราก็เคยทำงานโฆษณานะ แต่พอทำแล้วรู้ว่าไม่เหมาะกับเรา คือทำใจไม่ได้ก็ไม่ทำอีกเลย หรือแม้แต่ถ้าสมมติว่าเราไม่ทำหนังแบบนี้แล้ว หนีไปทำหนังในระบสตูดิโอ แล้วเราจะตอบคำถามเด็กได้ยังไงว่า ที่เราเคยสอนว่าให้ทำงานศิลปะ มันคืออะไรวะ อาจารย์ยังเอาตัวไม่รอดเลย (หัวเราะ)

คือจะว่าไปมันก็คือภาระที่เราต้องแบกเอาไว้ คือมันก็เห็นมาจากอาจารย์ที่เคยสอนเรา แล้ววันหนึ่งเรายังเห็นอาจารย์เอางานศิลปะไปแสดงต่างประเทศตามเทศกาลหรือพิพิธภัณฑ์สำคัญๆ คืออารมณ์เวลาเราเห็นชื่ออาจารย์ในงานใหญ่ๆ มันจะรู้สึกแบบว่า เฮ้ย! เราเคยเรียนกับอาจารย์คนนี้ จนวันที่เรามาเป็นอาจารย์ เราก็อยากให้ลูกศิษฐ์เราเห็นว่า เฮ้ย! อาจารย์เรายังทำหนังอยู่นะ เหมือนกัน …จริงๆ มันก็เป็นอัตตาที่เราแบกเอาไว้นั่นละ

คือเราไม่อยากโกหกไปจากสิ่งที่เราสอน ทำให้เขาเห็นให้ได้ว่า เรามีชีวิตอยู่แบบนี้ได้จริงๆ โอเคว่าแต่ละคนก็มีข้อประนีประนอมของชีวิตที่ไม่เหมือนกันหรอก แต่ว่าสิ่งที่เราทำมันก็เป็นทางที่ทำให้เรายังสามารถทำงานศิลปะต่อไปได้ ในแบบที่อาจจะไม่ได้ร่ำรวยอะไรมาก คือง่ายๆ เลย ถ้าคุณอยากทำงานศิลปะ คุณก็ต้องลงมือทำ

– อุปสรรคในการทำหนังเรื่องนี้ตลอด 5 ปีมันให้อะไรเราบ้าง

คือพอหนังมันเสร็จปุ๊บ เรามองย้อนกลับไปมองตัวเรา เรารู้สึกเลยว่า ตัวเราแม่งกระจอกมากๆ เพราะเรายังมีคนอีก 20-30 คนมาช่วยเราทำหนังเรื่องนี้ ซึ่งถ้าไม่ได้เขาก็ไม่มีวันเกิดขึ้นมา เราไม่ได้รู้สึกเลยว่าการเป็นผู้กำกับมันเจ๋ง

องอาจ เจียมเจริญพรกุล จาก Vanishing Point

องอาจ เจียมเจริญพรกุล จาก Vanishing Point

– พันธมิตรที่ทำหนังรวมกันมาตลอดเช่น พี่โก้ พี่ป้อม หรือ พี่แฉะ (องอาจ เจียมเจริญพรกุล – ผกก. ‘น้ำ ผีนองสยองขวัญ’ และ ‘ความลับนางมารร้าย’) หรืออีกมากมายที่มาช่วยเราทำหนัง เขามาได้ยังไงกัน

คือทั้งหมดนี้ก็สนิทกันหมด และเขารู้ว่าเรากำลังทำอะไรที่มันไม่ใช่ระบบอุตสาหกรรมอยู่ ซึ่งเขาก็จะหาทางช่วยเหลือ เช่นแนะนำคนให้ หรือวิธียืมของมาใช้แบบเสียเงินน้อยหน่อย คือมันเหมือนกับเพื่อนที่เรียนศิลปะมาด้วยกันมา เราเองก็ทำมาตลอดเขาก็เห็นและยินดีที่จะช่วย

Mit Out Sound Films คือชื่อกลุ่มของ เก่ง-จักรวาล นิลธำรงค์,  โก้-ชาติชาย ไซยยนต์ (คอสตูมดีไซเนอร์  ‘ปืนใหญ่จอมสลัด ‘, ‘ไชยา’, ‘อันธพาล’) และ ป้อม-พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง (ผู้กำกับหนังสั้นและผู้กำกับภาพ ‘หลุด 4 หลุด’) กลุ่มเพื่อนจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เป็นพันธมิตรกันผลิตงานในแนวทางของตนเองตั้งแต่ปี 2008 จนมาถึง Vanishing Point ซึ่งเป็นหนังยาวเรื่องแรกของกลุ่มนี้

– ตอนที่เราตัดสินใจมีครอบครัว ตอนนั้นเราคิดไหมว่า มันจะทำให้เรามีชีวิตการทำหนังได้ยากขึ้น

สำหรับแฟนคนนี้ไม่นะ คือเขารู้ไงว่าเราเคยผิดหวังจากอะไรมาก่อน อีกอย่างคือเขาเองก็เป็นคนทำงานศิลปะ ฉะนั้นมันจึงไม่ยากที่จะอธิบายสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ แต่แน่นอนว่าชีวิตมันไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ละคนก็มีเงื่อนไขที่ต่างกันออกไป

– ดูเป็นชีวิตลงตัวสำหรับการทำหนังอย่างอิสระ

ตอนเราไปฉาย VP ที่สิงคโปร์ ก็มีนักศึกษามาถามอะไรทำนองเหมือนกัน ทำหนังยากไหม ต้องทำยังไงถึงได้ทำ แล้วจะเริ่มกันยังไง เราก็ตอบไปว่า ไม่ต้องกลังหรอกว่าจะไม่ได้ทำ ถ้าหนังเรื่องนั้นมันจะเกิดขึ้นมาจริงๆ มันอยู่ที่ว่า เราอยากให้มันเกิดมากพอหรือเปล่า ถ้ามันยังไม่เกิดแสดงว่าเรายังมีแรงกระตุ้นกับมันไม่มากพอ

– แต่ว่าคนอยากทำหนังเยอะมาก ทำยังไงถึงจะทำให้สิ่งที่เป็นความอยากเกิดขึ้นจริง

เมื่อมันเกิดขึ้นจริงละ คุณถึงจะรู้สึกได้ว่าตอนนั้นคุณมีความอยากมากพอ คือฟังดูเป็นนามธรรมนะ แต่เราก็เคยผ่านจุดนั้นมาแล้ว จุดที่ต้องดิ้นรนหาทางทำหนังเรื่องนี้ บางคนอาจจะบอกต้องมีสตูดิโอมาช่วยให้เงินสิ หรือว่าบทมันดีพอแล้ว แต่ทำไมมันไม่เกิด โปรดิวเซอร์หาเงินให้ไม่ได้หรือไม่ทำ ก็ไม่เป็นไรเราก็ลุยหาต่อเอง

อย่างตอนที่หนังมันเสร็จ เราก็นั่งคุยกับป้อม ป้อมมันก็บอกเราว่าเราเองก็ยอมเสียสละอะไรหลายอย่างเพื่อทำหนังเรื่องนี้นะ เช่นตอนเมียพี่ท้อง พี่จำเป็นต้องเอาเงินเป็นแสนของตัวเองเพื่อไปถ่ายหนังเรื่องนี้ ซึ่งเป็นคนอื่นเขาคงไม่ทำแบบนี้ ก็เอาเงินไปเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียดีกว่า แต่จังหวะนั้นเรารู้ตัวว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ หนังเรื่องนี้มันก็เลยเกิดไง

คือยังไงเสียมันก็ยังเป็นความอยากที่อยู่บนเหตุและผลนะ อย่างที่บอกคือ หนึ่งเราเชื่อว่าหนังมันมีประโยชน์ สองคือเราแบกรับความเป็นอาจารย์สอนภาพยนตร์เอาไว้ เพื่อที่จะแสดงให้ลูกศิษย์เห็นนะว่าเรายังทำหนังอยู่ คือมันอาจจะไม่ได้ออกดอกผลในเร็ววัน ความสำเร็จของมันอาจจะไม่ได้มากมาย แต่ในอีกสิบปีข้างหน้ามันก็จะเป็นเมล็ดที่หว่านออกไปและโตในอนาคต คือมันเลี่ยงการทำหนังไม่ได้จริงๆ ยังไงก็ต้องทำ

จักรวาล นิลธำรงค์ 03

 

– คือผู้กำกับทุกคนล้วนมีความอยากหรือมีเรื่องที่เล่า อะไรคือสิ่งที่พี่คิดว่ามันมีประโยชน์ที่จะเล่าผ่านหนังเรื่องนี้

อย่างหนึ่งคือเรื่องที่เราอยากเอามาเล่าในหนัง มันผ่านการตกตะกอนมาแล้ว และคิดว่ามันเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มาถ่ายทอดให้เป็นประสบการณ์ ซึ่งไอ้ประสบการณ์นี้มันจำเป็นต้องเป็นหนังเท่านั้น มันเป็นหนังสือหรือเป็นอย่างอื่นไม่ได้ แต่มันต้องมานั่งอยู่ในโรงและก็มีประสบการณ์ร่วมไปกับมัน คือมันอาจจะไม่ได้ทำให้เกิดผลภายในที่แรกหรือในเร็ววัน แต่อาจจะต้องใช้เวลาเป็นเดือนที่จะทำความเข้าใจ หรืออาจจะต้องดูซ้ำสองถึงสามรอบ คือหนังมันก็เรื่องพื้นฐานอย่างการหาความสุขในการมีชีวิตอยู่ หรือเรื่องธรรมะ ว่าสุดท้ายมนุษย์จำเป็นต้องมีสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ

– จริงๆ ความรู้สึกแรกที่มันเกิดจากการดูรูปข่าวอุบัติเหตุของพ่อแม่ จนมาสู่หนังเรื่องนี้มันถูกพัฒนามายังไง

มันสยองนะ เมื่อเราดูภาพๆ นี้ และจินตนาการไปว่า คนที่อยู่ในซากอัดก็อปปี้นี้คือพ่อกับแม่เรา ในซากรถนี้มันมนุษย์อยู่ในนั้น ซึ่งเราก็เอาความกลัวที่มันเคยเกิดขึ้นในใจเรามาผลิตซ้ำในหนังเรื่องนี้

มันมีงานของ สแตน แบร็คเกจ (Stan Brakhage) ชิ้นหนึ่งที่เขาถ่ายทอดขั้นตอนการ autopsy หรือการผ่าชันสูตรศพ ตั้งแต่นำศพเข้า ผ่าเอาอวัยวะส่วนต่างๆ ออกมาล้างทำความสะอาด และก็ใส่ทั้งหมดเข้าไปในร่างกายใหม่ คือแรกๆ ที่เราดูมันจะเกิดความกลัว แต่พอระยะเวลาผ่านไป มันจะกลายเป็นการดูแล้วพิจารณาไปว่า ทุกอย่างมันก็แค่นั้นจริงๆ มันเห็นการกลายจากสภาวะหนึ่งไปสู่อีกสภาวะหนึ่ง ทั้งที่จริงๆ มันคือสิ่งเดียวกัน แล้วเรามานั่งดูใจตัวเราว่า ภาพๆ เดิม ทำไมมันกระทบใจเราให้รู้สึกอีกแบบ

– ทุกอย่างที่พี่ทำคือการพยายามให้มันประโยชน์ แล้วถ้าวันหนึ่งเรารู้สึกว่า ทำหนังไม่มีประโยชน์ หรือว่าสอนหนังสือแล้วไม่มีประโยชน์ เราจะหยุดทำมันไหม

ก็เป็นไปได้ คือถ้าคิดว่าวันหนึ่งสิ่งที่ทำอยู่มันไม่ประโยชน์ เราก็คงไปทำอย่างอื่นดีกว่า

Stan Brakhage

สแตน แบร็คเกจ (Stan Brakhage) นักทำหนังทดลองชาวอเมริกัน ได้ทำหนังชุด “ไตรภาพพิตต์เบิร์ก” (The Pittsburgh Trilogy) โดยได้แรงบันดาลใจจากสถาบันทางสังคมในเมืองๆ นี้ ได้แก่ eyes (1970, 35 นาที – ตำรวจประจำเมือง), Deus Ex (1970, 33 นาที – โรงพยาบาล) และ The Act of Seeing with One’s Own Eyes (1971, 32 นาที) ที่ถ่ายทอดการผ่าชันสูตรศพแบบละเอียด

 

ตัวอย่าง Vanishing Point

The post Interview – จักรวาล นิลธำรงค์ : ศิลปะ ธรรมะ และความเป็นครู appeared first on MThai Movie.


Viewing all articles
Browse latest Browse all 1404

Trending Articles


ใครรู้จักบริษัท the singular group บ้างครับ...


เจาะเบื้องลึก! 8 เรื่องจริงของทีมนักแสดงซีรี่ย์จีน Joy Of Life ที่แฟนๆ...


amp*payment bangkok ในบัตรเครดิต UOB คือะไร มีใครทราบไหมครับ


เบื้องหลังถ่ายแบบสาวเซ็กซี่จากไต้หวัน ด้วยชุดบิกินี่สีแดง


“โรคตุ่มน้ำพอง หรือ โรคเพมฟิกอยด์” อาการเป็นอย่างไร พร้อมวิธีป้องกันและดูแลรักษา


การ SUM ข้าม Sheet Microsoft Excel


วิธีทำให้ iPad โทรเข้า-ออกได้ด้วย WiFi Calling by TrueMove H


สรุปทุกสิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับ Pivot Table


ทริป Full Nude น้องการ์ฟิลด์ จากนิตยสาร Penthouse อาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน 55


SUBA ประกาศคืนชีพ Dream of Mirror Online เตรียมย้อนความทรงจำในเซิร์ฟเวอร์ NA


ตามหา Firmware เราท์เตอร์ Xplor re1200r4gc-2t2r-v3 (Xplor Ac1200)ของทรูครับ


ใช้บัตร M Pass ถ้าจะนั่งที่นั่ง Honeymoon,Opera Chair...


คลิปซูฉีอาบน้ำ เห็นหมด รีบดูก่อนโดนลบ


ใหม่ All New ISUZU D-MAX X-Series Super Daylight 2015-2016 ราคา อีซูซุ...


โหลดฟรี โปรออดิชั่น เพอเฟค กดเอง ล่าสุด


สพป.อุดรธานี เขต 2 เรียกบรรจุครูผู้ช่วย รอบที่ 7 จำนวน 3 อัตรา - รายงานตัว 13...


เรียบหรู ดูแพง 4 ชุดแต่งงานของ “มายด์ ศรันย์รัฐ”เจ้าสาวไฮโซฟ้าประทาน...


ใส่สีพื้นหลังของเซลล์ Excel เปลี่ยนความจำเจของสีพื้นหลัง


การเขียนแม่ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ 3D ด้วย Artcam (ตอนที่ 1)


บัญชี True money wallet ถูกระงับ เกิดขึ้นเพราะอะไรคะ...