ดาวคะนอง (อโนชา สุวิชากรพงศ์, 2016) คว้าทั้งรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและลำดับภาพยอดเยี่ยมจากเวทีสุพรรณหงส์ ขณะที่ตัวอโนชาเองคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมได้ นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตาเมื่อหนังไทยฟอร์มเล็กขยับไปคว้ารางวัลในเวทีใหญ่
แน่นอนว่าเบื้องหลังความสำเร็จของหนัง ส่วนหนึ่งมาจากทีมงานตัดต่ออย่าง ลี ชาตะเมธีกุล (ผู้กำกับและนักตัดต่อที่คอหนังอิสระจากการร่วมงานกับ อภิชาติพงศ์ วีรเศรษฐกุล) ไปจนถึง โอม-มัชฌิมา อึ๊งศรีวงษ์ (นักตัดต่อรุ่นใหม่ที่เคยมีผลงานจาก ‘สิ้นเมษาฝนตกมาปรอยปรอย’) ที่ทั้งสองมาร่วมงานกัน ทำหน้าที่เรียบเรียงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ไทยให้ออกมาเป็นเรื่องราวอย่างที่ปรากฏบนจอหนัง ซึ่งน่าสนใจว่า เบื้องหลังการเล่าเส้นเรื่องอันซับซ้อนใน ‘ดาวคะนอง’ ของทั้งสองจะเป็นอย่างไร

ทำงานกับผู้กำกับอย่างไรบ้าง
ลี : ผมกับผู้กำกับคุ้นเคยกันอยู่แล้ว อย่างโปรเจ็กต์นี้ จุดเริ่มต้นคือ ผู้กำกับมี Material มา เราเลยขอเวลานิดหนึ่งเพื่อไปทำความเข้าใจและทำออกมาเป็นเวอร์ชั่นร่างให้เขาดู แล้วพัฒนาต่อจากตรงนั้นอีกที
มัชฌิมา : เราตัดหนังเรื่องนี้มาก่อนพี่ลีประมาณ 2 ปีได้ พอมาทำงานด้วยกันก็ปรึกษากันตลอด และคุยกับพี่ใหม่ (อโนชา) ว่าทำไมตัวละครถึงเชื่อแบบนี้ เขามีเบื้องหลังยังไง คือพี่ใหม่ชอบให้เราตีความตัวละครเองด้วย เหมือนเขามีเรื่องที่อยากเล่าเยอะ
ในฐานะคนตัดต่อหนัง เราวางโครงสร้างหนังเรื่องนี้ยังไง
ลี : คือตัวบทเล่าเรื่องแบบ Nonlinear พอเราเข้ามาตัดก็ลองมาเรียงใหม่ ว่าในความรู้สึกของเราในแต่ละซีน มันควรจะเล่าเรื่องยังไง ลองสลับดูตามขั้นตอน เล่าตามความรู้สึก และคุยกับผู้กำกับว่าความรู้สึกที่เขาอยากสื่อสารกับคนดูคืออะไร เราก็ลองมาต่อเป็นจิ๊กซอว์ดูว่า ความรู้สึกตอนจบจะพาเรา-ในฐานะคนดู-ไปถึงจุดนั้นได้ไหม
ผมใช้ความรู้สึกคนดูเป็นตัววัดเป็นหลัก เทสตัวผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ว่าความรู้สึกที่ได้จากตัวหนังมันส่งผลอยู่ไหม แล้วถ้าหนังแนวนี้ทำให้ผู้กำกับยังรู้สึกเศร้าได้ ร้องไห้ได้ คนอื่นมาดูแล้วคนอื่นน่าจะส่งผลกระทบหรือมีอิมแพ็คมากกว่า
มัชฌิมา : คือเพราะมันไม่ได้ตัดตามบทขนาดนั้น เลยต้องคุยกับผู้กำกับว่าเขาคิดยังไง พยายามตีความตามที่ผู้กำกับบอก ผสมกับตัวหนัง

สำหรับเราแล้วการเล่าเหตุการณ์เดือนตุลามันยากไหม
มัชฌิมา : โดยรวมแล้ว สุดท้ายทุกอย่างเชื่อมกันหมด ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ เรื่องความทรงจำ และแน่นอน เรื่องเหตุการณ์ 6 ตุลาด้วยเพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเรา และเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยได้รับพื้นที่สื่อหรือในตำราเรียนเท่าไร แต่มันเกิดขึ้นและอยู่กับคนที่เกิดในประเทศนี้
ลี : จริงๆ ส่วนตัวแล้ว ความรู้สึกตอนที่ดูหรืออ่านบท ซีนสำคัญสุดคือซีนท้ายๆ ของอาจารย์ ที่บอกว่าเขารู้สึกว่าไม่สามารถอยู่ในประเทศนี้แล้ว เราฟังแล้วเศร้ามาก เลยรู้สึกว่าตัวหนังทั้งเรื่องมีความรู้สึกเศร้าบางอย่าง คือความเศร้าเกี่ยวกับโอกาสในอดีตที่เสียไป คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตในอดีตแล้วหายไป ซึ่งผมพยายามรักษาความรู้สึกเหล่านี้ในหนังไว้ด้วย
***********
ชม ดาวคะนอง By the Time It Gets Dark ซึ่งได้รับรางวัลหนังไทยแห่งปี รางวัล BIOSCOPE AWARDS 2016 ได้ที่โรงภาพยนตร์ Bangkok Screening Room (ซอยศาลาแดง 1 สีลม ข้างตึกอื้อจือเหลียง) ในวันเสาร์ที่ 11 มีนาคม 2560
สามารถสำรองที่นั่งล่วงหน้าได้ที่ เว็บไซต์ bkksr.com
และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ facebook : BIOSCOPE Magazine
***********
โปรแกรมฉาย ‘หนังไทยแห่งปี’ BIOSCOPE AWARDS 2016
11.00 น. – ถึงคน..ไม่คิดถึง From Bangkok to Mandalay
13.30 น. – มหาสมุทรและสุสาน The Island Funeral
15.45 น. – ความเศร้าของภูตผี Insurgency by a Tapir
18.00 น. – ดาวคะนอง By the Time It Gets Dark
20.15 น. – สันติ-วีณา
ติดตามข่าวสารและเทรนด์หนังจากทั่วทุกมุมโลกได้ที่ facebook : BIOSCOPE Magazine
![]()
The post (Interview) ลี ชาตะเมธีกุล และ มัชฌิมา อึ๊งศรีวงษ์ : สองผู้ตัดต่อโลกอันพิศวงใน ‘ดาวคะนอง’ appeared first on MThai Movie.