กว่า 2 ปีที่สตูดิโอ Talent 1 เตรียมการกับโปรเจ็กต์ภาพยนตร์ถึง 3 เรื่องที่จะเตรียมเข้าฉายในปีนี้ และยังเป็นครั้งแรกที่พลิกมาในแนวโรแมนติกดราม่า หลังจากประสบความสำเร็จกับหนังดราม่า-สยองขวัญอย่าง ‘Last Summer ฤดูร้อนนั้น ฉันตาย’ (2013) และ ‘รัก ลวง หลอน The Couple’ (2014)
โดยผลงานประเดิมเรื่องแรกในปีนี้อย่าง ‘รักของเรา The Moment’ นอกเหนือจากบิ๊กไอเดียในการเล่าเรื่องความรักผ่านความสัมพันธ์ของคนสามคู่ในฉากหลังสามเมืองใหญ่ทั้ง ลอนดอน โซล และนิวยอร์คแล้ว สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือการมารับหน้าที่ผู้กำกับภาพยนตร์ครั้งแรกของผู้บริหารหญิง Executive Producer แห่งค่าย Talent 1 คุณจุ๊ก – ลัดดาวัลย์ รัตนดิลกชัย
การตัดสินใจควบตำแหน่งทั้งผู้สร้าง, โปรดิวเซอร์ และผู้กำกับพร้อมกัน (โดยกำกับร่วมกับ ปัญจพงศ์ คงคาน้อย จาก ‘ซัมบาลา’) แถมยังเป็นหนังที่ต้องบุกข้ามไปถ่ายทำในต่างแดนด้วยทีมงานท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่งของเธอในครั้งนี้
***************
– จากที่เคยทำหนังผี ทำไมถึงตัดสินใจมาทำหนังแนวโรแมนติกเป็นครั้งแรกครับ
คือแม้ว่า last Summer หรือ The Couple จะเป็นหนังสยองขวัญ แต่ทั้งคู่ก็เป็นหนังว่าด้วยความสัมพันธ์ของคน ที่นี่ช่วงเวลาที่เราทำ The Couple มันก็เริ่มมีกลิ่นอายของความเป็นหนังรักละ จริงๆ เราเตรียมหนังรักไว้อยู่ 4-5 เรื่อง คือทำทั้งรีเสริชทำทั้งบทพร้อมกัน จนกระทั่งหนังรักสามเรื่องในจำนวนนี้ถูกยุบมาเป็นหนังเรื่อง The Moment โดยเราเอาธีมมาเชื่อมทั้งหมดเข้าด้วยกันไว้
“พื้นที่” มันก็เป็นตัวละครแบบหนึ่งสำหรับเรา ความสัมพันธ์ที่เราพูดถึงทั้งสามคู่ในเรื่องนี้ ทั้งพาร์ทนิวยอร์ค ที่เราเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของคู่ที่ต้องรอดพ้นจากสถานการณ์อันอึดอัดไปด้วยกัน พาร์ทโซลคือความสัมพันธ์ที่เริ่มจากมิตรภาพก่อนที่เรื่องราวมันจะข้ามเส้นไปสู่อีกรูปแบบหนึ่ง คือเราไม่ได้คิดว่าจะทำหนังเกย์นะ เราคิดว่าความรักมันเล่นกล บางครั้งถูกที่แต่ผิดเวลา ถูกคนแต่ไม่ถูกเพศ หรือกับพาร์ทลอนดอน มันคือความสัมพันธ์ที่เกิดจากความผูกพันธ์ เป็นความทรงจำเก่าที่ยังค้างคาและเคลียร์มันไม่จบ จนมาวันหนึ่งเรามาเจอกับรักเก่าในบรรยากาศที่เป็นดั่งเคยวาดฝันไว้
– ทำไมตัดสินใจนำสามโปรเจ็กต์มารวมเป็นเรื่องเดียว
คือทั้งสามคู่มันเล่าด้วยธีมเรื่องเดียวกัน ซึ่งถ้าเราสามารถทำให้ทั้งสามคู่พาผู้ชมให้คล้อยตามไปกับธีมดังกล่าวได้ มันจะมีความแน่นของเรื่องราว อีกสิ่งหนึ่งที่เราสนใจ คือรูปแบบที่ทั้งสามพาร์ทเล่าตัดสลับสิ่งที่เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กัน มันใหม่สำหรับเราซึ่งมันท้าทายมาก เพราะกว่าเราจะเล่าในรูปแบบนี้ได้สำเร็จก็ตัดกันไป 20 ดราฟต์จนสำเร็จ
– ทราบว่าสิ่งที่ทาเล็นต์วันทำอย่างเข้มข้นมากคือรีเสิร์ชหาข้อมูลก่อนจะมาเป็นหนังสักเรื่อง กับเรื่อง The Moment เรารีเสิร์ชประเด็นอะไรบ้าง
หนึ่งคือเราอยากหาคำตอบว่า ปัจจุบันผู้คนมีมุมมองความรักยังไง คนสนใจหรือกังวลอะไรเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของตนเองบ้าง จนเราพบว่า ความรักในยุคนี้มันไม่ใช่เรื่อง “ขาวกับดำ” หรือ “ถูกและผิด” อีกต่อไปแล้ว ทุกตัวละครใน The Moment ไม่มีใครตั้งใจในความรู้สึกที่เกิดขึ้น หลายคนก็เคยเกิดความรักโดยไม่ทันรู้ตัว แล้วเราเองก็ไม่ได้อยากจะทำหนังรักแบบเจอกันแล้วปิ๊งเลย มันคือความรักที่ค่อยๆ เกิดขึ้นในเวลาอันสั้น
สอง เราพบว่าผู้คนมองความสัมพันธ์ในลักษณ์ห่วงเวลา หรือโมเม็นต์ หมายความว่า ณ ปัจจุบันมันสำคัญสำหรับเขาที่สุด ไม่ได้คิดว่าจะรักกันไปอีกห้าปีสิบปี เขาให้ความสำคัญกับความรู้สึก ณ ปัจจุบันขณะมากที่สุด ซึ่งมันต่างจากอดีต
สามคือ ผู้คนอยากได้ทางเลือก เขาไม่ได้ต้องการหนังตลก เขาไม่ได้ต้องการหนังเมโลดรามา แต่เป็นหนังรักอบอุ่นของคนที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่เราก็ให้ความรู้สึกดีๆ กับเขาได้ ซึ่งเราค้นหาจากหนังที่คนต่างๆ ชื่นชอบ แล้วเราถึงไปต่อยอดจากหนังเหล่านั้นว่าเขาชอบอะไร

– จากตำแหน่ง Executive Producer ในสองเรื่องก่อน เพราะอะไรใน The Moment ถึงได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับเป็นครั้งแรก
คือก่อนหน้านี้เรามีหน้าที่ในการซับพอร์ทผู้กำกับ ที่นี่เราเองก็เป็นคนที่คุมทีมเขียนบทอยู่ด้วย เราจะทำหนังอะไรหรือจะเล่ามันไปในทิศทางไหน ทั้งหมดมันเกิดมาจากสตูดิโอ ทาเลนต์วันเองก็มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าอยากจะพูดถึงความสัมพันธ์ของผู้คนร่วมสมัย ที่นี้ เราจะทำยังไงให้โจทย์ของสตูดิโอที่มีอยู่ไปถึงเป้าหมายตรงนั้นได้หรือใกล้เคียงมากที่สุด ซึ่งการเป็น Executive Producer ระหว่างทางในการทำงาน มันจะมีรายละเอียดบางอย่างที่ถ้าเราอยากให้หนังเป็นไปตามสิ่งที่เราตั้งโจทย์ไว้ตั้งแต่แรก เราต้องดูรายละเอียดนั้นด้วย เราเลยต้องลดสเต็ปลงมาเป็นโปรดิวเซอร์ด้วย
ยกตัวอย่าง ซีรีส์ ‘7 วันจองเวร’ เราก็ลงมาทำหน้าที่โปรดิวเซอร์แล้ว ซึ่งในระบบการทำงานต่างประเทศ โปรดิวเซอร์กับคนเขียนบทเป็นคนๆ เดียวกัน ตัวเราและทีมเขียนบทของสตูดิโอคือ “ครีเอเตอร์” พอเราสร้างสรรค์เสร็จเราก็ต้องหาระบบที่สามารถตรวจสอบสิ่งที่เราสร้างโลกเอาไว้ มันก็เลยนำไปสู่ที่ว่า ตำแหน่งอะไรก็ได้ที่สามารถนำพาเราไปสู่เป้าหมายนั้น
ในพาร์ทนิวยอร์ค เราเป็นแค่ครีเอเตอร์ในส่วนบท ซึ่งมีคนที่วิธีทำงานเข้ากับเราได้เขาเข้าใจ เราก็ให้เขากำกับ แต่กับอีกสองเมืองคือ โซล กับ ลอนดอน ที่เรามีส่วนร่วมในบทค่อนข้างเยอะ พอเริ่มทำงานจริง เราเองก็พูดคุยกับผู้กำกับหลายคนมาก ด้วยมันจำเป็นต้องให้เกิดความเชื่อมโยงกันทั้งสามพาร์ทด้วย ดังนั้นมันต้องมีใครสักคนที่สามารถเห็นภาพของทั้งสามเรื่องได้ ก็เลยกลายมาเป็นเราในที่สุด
– กับการเลือกคุณปี๊ด-ปัญจพงศ์ คงคาน้อย มากำกับร่วมครับ
ปี๊ดเองก็เป็นทำ ‘ซัมบาลา’ (2012) ซึ่งเป็นหนังว่าด้วยความสัมพันธ์และการเดินทางมาก่อน สองคือปี๊ดเข้าใจภาพรวมว่าทั้งสามพาร์ทมันคือเรื่องเดียวกัน ซึ่งลำพังเราเองก็ไม่ใช่ผู้กำกับอาชีพ เราต้องการคนที่มาสนับสนุนให้เราไปสู่เป้าหมายของสิ่งที่เราคิดมาทั้งหมดให้ได้
– กับการถ่ายทำในต่างประเทศของภาพยนตร์ หลายครั้งเรามักจะเห็นการทำงานแบบไม่ได้ขออนุญาต ทำไมเราถึงเลือกที่จะใช้ทีมงานในแต่ละประเทศเป็นส่วนใหญ่ ไปจนถึงการขออนุญาตถ่ายทำอย่างถูกต้อง ซึ่งถูกมองว่ายุ่งยากกว่า
คือเราอยากทำหนังที่ปราณีต คือการที่นักแสดงจะสามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีได้ มันต้องพื้นที่และเวลาให้เขาสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องกังวล ซึ่งการทำงานที่ต้องใช้พื้นที่และเวลามันต้องมีการขออนุญาตอย่างถูกต้อง ซึ่งในต่างประเทศเมื่อมีการขออนุญาตแล้ว เขาก็จะจัดเตรียมไว้ให้ ซึ่งถ้ามันช่วยให้เราสามารถทำงานได้อย่างที่ต้องการได้ เราก็จำเป็นต้องทำ
– ทีมงานหลักๆ ที่เราเอาไปด้วยจากไทยมีตำแหน่งอะไรบ้าง
แกนหลักในทุกๆ ประเทศก็จะเป็นทีมที่เกี่ยวข้องกับทิศทางของด้านความงามของภาพยนตร์ ทั้งผู้กำกับภาพ ก็คือ พี่กล้วย (ณัฐวุฒิ กิตติคุณ – ผู้กำกับภาพรุ่นเก๋า ซึ่งเคยร่วมงานกับ ปัญจพงศ์ ใน ‘ชัมบาลา’) แล้วก็ทีมโปรดักชันดีไซน์ก็มี พี่เบิ้ม (อรรคเดช แก้วโคตร ผู้อยู่เบื้องหลังงานกำกับศิลป์ของหนัง GTH หลายๆ เรื่อง) ไปจนถึง Line Producer ซึ่งเป็นคนเกาหลี ที่เหลือก็จะปรับใช้ทีมงานของแต่ละประเทศไป คือเราเลือกคนที่มีประสบการณ์สูงเพื่อช่วยให้ทิศทางการทำงานในแต่ละประเทศไปในทิศทางเดียวกันมากที่สุด
ข้อดีในการใช้โปรดักชันท้องถิ่น หนึ่งคือความเชี่ยวชาญในพื้นที่ของพวกเขาที่ช่วยให้เราสามารถทำงานได้ตามที่เราต้องการ สองคือเขารู้วิธีในการรับมือผู้คนในพื้นที่สาธารณะต่างๆ ของในแต่ละเมืองที่จะมีปฏิกิริยากับกองถ่ายภาพยนตร์แตกต่างกัน สามคือเราถือว่าเมืองคือตัวละครหนึ่ง ทีมงานท้องถิ่นจะเข้าใจคาแร็กเตอร์ของเมืองพวกเขา ยกตัวอย่างในลอนดอน ทีมเสียงก็ได้จะถามเราว่าลอนดอนของคุณมีคาแรกเตอร์ยังไง เพราะเขาจะได้เลือกเก็บบันทึกเสียงได้อย่างถูกต้อง หรือฟ้าในลอนดอนมันจะอมสีฟ้าหน่อยนะ โซลเองก็จะอมเหลืองหน่อย ซึ่งทีมงานท้องถิ่นเขาจะช่วยเหลือรายละเอียกต่างๆ เหล่านี้ได้เยอะ
– สำหรับการลงมากำกับภาพยนตร์เป็นครั้งแรก รู้สึกอย่างไรบ้าง
หนึ่งมันเป็นงานที่ยากและละเอียดมาก คือเป็นตำแหน่งที่ต้องมองทั้งภาพใหญ่และรายละเอียดไปพร้อมๆ กัน สองคือผู้กำกับต้องทำได้ทั้งงานที่นำคน คือเข้าใจมนุษย์เข้าใจการจัดการต่างๆ และต้องรักษาความเป็นงานศิลปะของภาพยนตร์ด้วย (ผู้ถาม : คือเราต้องประนีย์ประนอมกับการทำงาน) เราเรียกว่าต้องเห็นมันตามความเป็นจริงด้วย ดังนั้นมันจึงเป็นงานที่เต็มไปด้วยการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้ได้งานศิลปะที่คุณต้องการ ซึ่งมันยิ่งยากสำหรับเราด้วยตำแหน่งที่ควบการเป็นโปรดิวเซอร์ด้วย ทำให้บางวันในการทำงานเราต้องระบุไปเลยว่า วันนี้เราจะไม่ตัดสินใจเรื่องนี้นะ เพราะมันจะขัดแย้งกันเองในหน้าที่ของการเป็นผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ เราก็จะไปปรึกษา Line Producer เลยว่าวันนี้เราจำกัดเวลาทำงานกี่ชั่วโมง เราจะไม่ใช่สิทธิของการเป็นโปรดิวเซอร์เพื่อสั่งยืดเวลาการถ่ายทำ เพราะเราสวมหน้าที่ของผู้กำกับที่ต้องทำให้ได้ตามเวลาที่จำกัดนี้
อย่างที่สามคือ เรารู้สึกว่าเราได้ในสิ่งที่เราต้องการจริงๆ (ผู้ถาม : ในแง่ไหนบ้าง ?) ทุกอย่าง แล้วมันคือการทำงานเป็นทีม ทีมเขียนบทเราตั้ง 8 คน พอเรากำกับมันก็เลยไม่มีช่องว่างระหว่างผู้กำกับกับคนเขียนบท ผู้กำกับต้องทำงานประสานทั้งโปรดิวเซอร์ ไปจนถึงทีมงานฝ่ายต่างๆ ยิ่งเราเป็นทั้งผู้กำกับ โปรดิวเซอร์และ Executive Producer แล้ว สิ่งที่มันเกิดขึ้นพิสูจน์ให้เห็นว่าทุกอย่างเกิดขึ้นได้ถ้าทุกคนช่วยกัน
– ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง Talent 1 ภาพหนึ่งที่สตูดิโอนี้พยายามยึดมั่นเสมอมาคือรูปแบบการทำงานเป็นทีม ทุกวันนี้ผ่านมาเกือบ 5 ปี คิดว่าสตูดิโอเติบโตไปตามสิ่งที่เราคาดหวังแค่ไหน
เราคิดว่ามันมาได้ประมาณ 70% แล้ว คือเราจะทำงานนี้ไม่ได้หรอก เพราะการนำคนที่มีความแตกต่างมารวมกันมันไม่มีทางสำเร็จได้ถ้าไม่ได้ทำงานเป็นทีม
– ถามไปถึงทั้งผลงานที่จะออกมาต่อๆ ไป ทั้งหนังเรื่อง Fifteen หรือสารคดี #BKKY เราวางแผนกับ Talent 1 ไว้อย่างไรบ้าง
เราตัดสินใจสลับ The Moment ขึ้นมาฉายก่อน เพราะมองว่าตัวหนังเหมาะสมกับช่วงเวลาฉายในตอนนี้ ก่อนจะไปที่ Fifteen (กำกับโดย พงษ์ชัยพัทร เศรษฐนันท์) ซึ่งก็เป็นหนังที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์เหมือนกัน แต่จะเป็นในกลุ่มเด็กวัยรุ่น ส่วน #BKKY (กำกับโดย นนทวัฒน์ นำเบญจพล จากหนังสารคดี ‘สายน้ำติดเชื้อ’) มันคือ side story ของ Fifteen อีกที เราชอบคอนเซ็ปต์ของโปรเจ็กต์นี้ตรงที่เราทำหนังรักวัยรุ่น Fifteen เองแสดงให้เห็นว่าเรื่องเพศสภาพไม่ใช่ประเด็นสำคัญละ มันกลายเป็นเรื่องระหว่างคนสองคนว่าอยู่ร่วมกันเพราะเหตุใด การสานสัมพันธ์ ไปจนถึงการเติบโตไปด้วยกัน #BKKY จะขยายประเด็นเหล่านี้ ในรูปแบบกึ่งสารคดี ซึ่งมันน่าสนุกมากที่เห็นหนังธีมเดียวกันแต่เล่าไปคนละแบบ
ส่วนเรื่องเวลาฉายทั่วไปของ Fifteen น่าจะเป็นช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน โดยที่ #BKKY จะเข้าฉายพร้อมกันแต่จะเป็นในรูปแบบจำกัดโรง เพื่อให้ภาพของเนื้อหาที่ทั้งสองเรื่องเล่ามันชัดเจนมากที่สุดสำหรับผู้ชม นั่นจึงเป็นสาเหตุที่เราชะลอการฉายของ #BKKY หลังจากหนังไปเปิดตัวที่เทศกาลหนังเมืองปูซานปลายปีที่ผ่านมา ส่วน Fifteen ตอนนี้เสร็จไปประมาณ 70-80 % แล้ว
#BKKY : Official trailer Busan version. from Mobile Lab on Vimeo.
– ในสถานการณ์ที่หนังไทยค่อนข้างยากลำบากในการคาดหวังถึงความสำเร็จ เราเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะคาดไม่ถึงอย่างไรบ้าง
เราคิดแค่ว่า เราพยายามทำหนังที่คุ้มค่าที่สุดเพื่อให้เขามาดู เรายังเชื่อว่าคนไทยยังรักกันอยู่ เราต้องทำหนังที่ทำให้เขารู้สึกคุ้มค่าที่สุด พยายามให้มากที่สุด แล้วทุกอย่างจะกลับมาเอง เราเชื่อนะ
………….
ติดตามข่าวสารและเทรนด์หนังจากทั่วทุกมุมโลกได้ที่ facebook : BIOSCOPE Magazine
The post (Interview) ‘รักของเรา The Moment’ : โจทย์ที่ท้าทาย และการกำกับหนังครั้งแรกของผู้บริหารแห่งค่าย Talent 1 appeared first on MThai Movie.