Quantcast
Channel: หนังไทย – MThai Movie
Viewing all articles
Browse latest Browse all 1404

เปิดจดหมาย “ข้อเรียกร้องจากกลุ่มเครือข่ายฯ ภาพยนตร์ ต่อสมาพันธ์ภาพยนตร์ฯ”

$
0
0

13 มกราคม 2560

เรื่อง ข้อเรียกร้องจากกลุ่มเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์ เพื่อการแก้ไขวิกฤติวงการภาพยนตร์ไทยอย่างเร่งด่วนที่สุด
เรียน ประธานสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ

ตามข้อเท็จจริงที่ทราบกันดีว่า ปี พ.ศ.2557 ภาพยนตร์ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดภาพยนตร์ทั้งประเทศ 22% โดยมีภาพยนตร์ต่างประเทศเข้าฉายทั้งสิ้น 166 เรื่อง ทำรายได้จากโรงภาพยนตร์รวมกว่า 3,372 ล้านบาท ส่วนภาพยนตร์ไทยเข้าฉาย 39 เรื่อง ทำรายได้จากโรงภาพยนตร์รวมกัน 927 ล้านบาทโดยประมาณ จากนั้นได้ลดลงในปี พ.ศ. 2558 ภาพยนตร์ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดภาพยนตร์ทั้งประเทศ 18% และในปีล่าสุด พ.ศ. 2559 ภาพยนตร์ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดภาพยนตร์ทั้งประเทศเหลือเพียง 13% เท่านั้น ซึ่งในปี พ.ศ. 2559 ภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้าฉายโรงภาพยนตร์ทั้งปีนับถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 มีจำนวนทั้งสิ้น 245 เรื่อง ทำเงินรวมกันได้ราว 4,127 ล้านบาท ในขณะที่ภาพยนตร์ไทยเข้าฉายทั้งปี 38 เรื่อง ทำเงินรวมกันทั้งสิ้น 565 ล้านบาท (โดยประมาณ)

ข้างต้นนี้ คือความเสื่อมถอยในเชิงปริมาณ

กล่าวในเชิงคุณภาพ – ครั้งหนึ่ง เราเคยเห็นภาพยนตร์ไทยเหล่านี้ถูกสร้างและได้รับความนิยมอย่างสูงจากผู้ชม : แผลเก่า, คนภูเขา, น้ำพุ, โทน, วัยอลวน, เสียดาย, โลกทั้งใบให้นายคนเดียว หรือแม้แต่ในระยะเวลาเพียง 20 ปีที่ผ่านมา เราก็ยังมีภาพยนตร์ที่ได้รับความยอมรับจากผู้ชมทั้งในเชิงคุณภาพและความบันเทิงอย่าง 2499 อันธพาลครองเมือง, แฟนฉัน, ก้านกล้วย, โหมโรง, องค์บาก ไปจนถึงภาพยนตร์ไทยที่แสดงถึงความทะเยอทะยานทางพาณิชย์ศิลป์ของผู้สร้างและผู้กำกับอย่างเต็มเปี่ยม อย่าง มหา’ลัยเหมืองแร่, ฝัน บ้า คาราโอเกะ, ปืนใหญ่จอมสลัด, 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นอาทิ

ทว่า หากประเมินจากสภาพการณ์ของวงการภาพยนตร์ไทยในวันนี้ เราแทบจินตนาการไม่ได้ว่าจะมีผู้สร้างคนใดกล้าเสี่ยงตัดสินใจสรรค์สร้างผลงานเหล่านั้น ยังไม่ต้องกล่าวถึงว่าเราแทบจินตนาการไม่ออกว่าจะมีสักกี่เรื่องในจำนวนนั้นที่ผู้ชมให้ความสนใจและสนับสนุนอย่างเนืองแน่น

นี่คือความเสื่อมถอยในเชิงคุณภาพ และทั้งหมดนั้นย่อมแสดงถึงความเสื่อมถอยของสิ่งสำคัญอันเป็นรากฐานและเป็นหัวใจหลักของความอยู่รอดอย่างยั่งยืนของทุกวงการภาพยนตร์ในโลกนี้ นั่นคือ ความเสื่อมถอยของ “วัฒนธรรมการผลิตและการชมภาพยนตร์”

นิยามโดยสังเขป วัฒนธรรมการผลิตและการชมภาพยนตร์ หมายถึงวิถีของผู้คนในสังคมหนึ่งๆ ที่มีภาพยนตร์ผูกพันเกาะเกี่ยวอยู่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต สังคมที่มีวัฒนธรรมดังกล่าวแข็งแรงจากรากฐาน ก็คือสังคมที่ผู้คนเห็นคุณค่าของภาพยนตร์ สามารถรับชมภาพยนตร์ได้อย่างหลากหลาย ใฝ่หาทั้งความบันเทิงและความบันดาลใจ พร้อมให้การสนับสนุนภาพยนตร์ที่มีคุณภาพทั้งในเชิงกำลังทรัพย์และกำลังใจ ผู้สร้างผลงานเองก็มีความมุมานะที่จะผลิตผลงานซึ่งตอบสนองความต้องการหลายระดับของผู้ชมเหล่านั้น ขณะเดียวกัน ตัวสังคมก็มีระบบโครงสร้างที่เกื้อหนุนให้ทั้งผู้สร้างและผู้ชมได้เข้าถึงโอกาสที่หลากหลาย ด้วยวิสัยทัศน์ที่แหลมคมว่า ภาพยนตร์สามารถเป็นทั้งศิลปะที่จรรโลงใจและเป็นธุรกิจสร้างสรรค์ที่สามารถต่อยอดสู่เม็ดเงินทางเศรษฐกิจมหาศาลทั้งภายในและต่างประเทศ

วัฒนธรรมการผลิตและการชมภาพยนตร์ที่แข็งแรงดังกล่าวนี้ กำลังถูกก่อร่างในหลายประเทศทั่วโลกด้วยการร่วมมือกันอย่างเป็นระบบของทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง และจำเป็นต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ที่หวังผลทั้งระยะสั้นและระยะยาวจากทุกฝ่าย แม้ทั้งหมดนี้จะกำลังค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างช้าๆ เช่นเดียวกันในวงการภาพยนตร์ไทยด้วยแรงผลักดันของหน่วยงานต่างๆ ทว่าก็มิอาจปฏิเสธได้เช่นกันว่า มีอีกหลายส่วนเหลือเกินที่เราจำต้องเร่งมือผลักดันไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะในแง่ของปัญหาอุปสรรคเฉพาะหน้าซึ่งเป็นตัวกีดขวางให้ความพยายามที่เหลือไม่อาจเดินหน้าต่อไปได้

ด้วยความตระหนักถึงสภาพการณ์อันเป็นวิกฤตินี้ “เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์” ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มบุคคลในวงการภาพยนตร์ไทยจากหลายส่วน จึงตัดสินใจขอก้าวเข้ามาเป็นอีกพลังหนึ่งในการร่วมเรียกร้องและร่วมผลักดันให้วงการภาพยนตร์เดินออกจากปัญหาใหญ่ตรงหน้า แล้วมุ่งพัฒนาต่อยอดตนเองให้ได้ในระยะอันใกล้ เพื่อหวังผลระยะไกลนั่นคือ การร่วมสร้างวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ในประเทศไทยที่แข็งแรง

ในการนี้ “เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์” จึงขอนำเสนอข้อเรียกร้องเบื้องต้น 3 ประการ แก่สมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวงการภาพยนตร์ ดังต่อไปนี้

1. กำหนดกลไกที่มีวิสัยทัศน์ชัดเจน เพื่อสร้างวัฒนธรรมการผลิตและการชมภาพยนตร์ที่แข็งแรง
เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์ ขอเรียกร้องให้สมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติเร่งปฏิบัติภารกิจนำการมุ่งพัฒนาคุณภาพของทั้งผู้สร้างและผู้ชมภาพยนตร์ในประเทศไทย ผ่านวิธีการและการดำเนินงานในลักษณะต่างๆ โดยดึงทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดผลงานภาพยนตร์ไทยที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาด ขณะเดียวกันก็เกิดผู้ชมที่มีรสนิยมอันหลากหลาย มีจิตใจที่เปิดกว้าง สามารถเพาะบ่มวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้อย่างแข็งแรง ทัดเทียมประเทศอื่นๆ ทั่วโลกอย่างแท้จริง
โดยการดำเนินงานดังกล่าวนี้ ควรปฏิบัติโดยคำนึงถึงภาพรวมของทั้งฝ่ายผู้สร้างและผู้ชม และคำนึงถึงทั้งผลประโยชน์ในระยะสั้นและระยะยาวอย่างยั่งยืน อาทิ
– การจัดตั้งกองทุนสนับสนุนผู้สร้างภาพยนตร์ไทย โดยไม่ใช่เพียงด้วยการให้ทุนสร้างผลงานเป็นเรื่องๆ ดังที่ผ่านมา ทว่าหมายรวมถึงกองทุนในการสร้างองค์ความรู้ สนับสนุนการวิจัยค้นคว้า การอบรมสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพในด้านต่างๆ โดยทำกับทั้งผู้สร้างภาพยนตร์ที่มีอยู่แล้ว และการสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ให้เข้าสู่วงการภาพยนตร์ได้อย่างมีทั้งฝีมือ ทัศนคติ และมีอาชีพรองรับอย่างเชื่อมั่นได้
– การสร้างพื้นที่เผยแพร่และเข้าถึงภาพยนตร์ทั่วประเทศ ที่อยู่นอกพ้นจากระบบธุรกิจโรงภาพยนตร์ตามปกติ (เช่น การสนับสนุนให้เกิดสถานที่จัดฉายภาพยนตร์อิสระในชุมชน หรือมหาวิทยาลัย, การสนับสนุนให้เกิด Film Club ในโรงเรียน, การสร้างห้องสมุดและห้องโสตทัศน์ด้านภาพยนตร์ ครอบคลุมหลากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ)
ทั้งนี้ หากนโยบายส่วนใดในข้อเสนอนี้ เป็นสิ่งที่สมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติได้กำลังริเริ่มดำเนินการอยู่แล้ว เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์มีความยินดีอย่างยิ่งที่จะร่วมมือและร่วมงานกันในการช่วยผลักดันให้การดำเนินงานดังกล่าวได้ดำเนินต่อไปอย่างราบรื่นจนบรรลุจุดประสงค์

2. ข้อเรียกร้องต่อปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโรงภาพยนตร์และผู้สร้างภาพยนตร์
เป็นที่ทราบกันดีว่า โรงภาพยนตร์ในประเทศไทยเกือบทั้งหมดในปัจจุบันเป็นระบบมัลติเพล็กซ์ ครอบครองจอฉายจำนวนมาก ส่งผลให้มีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจเกี่ยวกับการเลือกและจัดฉายภาพยนตร์ในทุกช่วงเวลา เราจึงมักได้เห็นปรากฏการณ์ที่โรงภาพยนตร์จำนวนมากทั่วประเทศจัดฉายภาพยนตร์ขนาดใหญ่ (บล็อกบัสเตอร์) ในเวลาพร้อมๆ กัน และเหลือพื้นที่ให้แก่ภาพยนตร์ประเภทอื่นๆ ทั้งของต่างประเทศและไทยเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อย ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อโอกาสทางธุรกิจของภาพยนตร์เหล่านั้นอย่างร้ายแรง

ภายใต้สภาพการณ์เช่นนี้ ผู้ดำเนินกิจการโรงภาพยนตร์มักมีคำอธิบายให้แก่สังคมในลักษณะที่ว่า โรงภาพยนตร์เป็นธุรกิจ จำเป็นต้องสร้างรายได้ ภาพยนตร์เรื่องใดที่มีศักยภาพด้านการทำรายได้ก็ย่อมจะได้รับโอกาสจากโรงอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ไทยหรือต่างประเทศ นอกจากนั้น หากภาพยนตร์ไทยสามารถสร้างอย่างมีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของผู้ชม โรงก็ยินดีจะนำเข้าฉายและย่อมจะสามารถทำรายได้เป็นที่พอใจแน่นอน ฯลฯ ทว่า ในความเป็นจริง ผู้สร้างภาพยนตร์ท้องถิ่นในทุกประเทศทั่วโลกรู้ซึ้งดีว่า คำอธิบายเหล่านี้ไม่ได้สร้างพื้นที่การแข่งขันที่ยุติธรรมอย่างแท้จริงขึ้นในตลาด เนื่องจาก
1) ในความเป็นจริง ภาพยนตร์ย่อมมีความหลากหลาย เป็นไปไม่ได้ที่ภาพยนตร์ทุกเรื่องจะสามารถลงทุนอย่างมหาศาลจนมี “ศักยภาพด้านการทำรายได้” เทียบเท่าภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ในสายตาผู้ดำเนินกิจการโรงภาพยนตร์
2) และแม้จะเป็นภาพยนตร์ที่ดูมีศักยภาพพอสมควร ทว่าเมื่อต้องถูกเบียดบังพื้นที่และระยะเวลาในการฉายจากภาพยนตร์ที่ “ใหญ่กว่า” อยู่เป็นประจำ ก็ย่อมยากจะสามารถทำรายได้ในระดับสูงหรือแม้แต่ระดับคุ้มทุน จนเอื้อต่อการพัฒนาผลงานต่อๆ ไปให้ยิ่งใหญ่ขึ้นหรือดึงดูดผู้ชมมากขึ้นได้

ยังมิพักต้องกล่าวถึงปัญหาในระยะยาวเชิงวัฒนธรรม ที่ผู้ชมภาพยนตร์ชาวไทยจะถูกบั่นทอนโอกาสในการได้เลือกชมภาพยนตร์อย่างหลากหลายลงเรื่อยๆ เนื่องจากนับวัน โรงภาพยนตร์ก็จะกลายเป็นพื้นที่ของภาพยนตร์ขนาดใหญ่ยักษ์จากต่างประเทศมากขึ้นทุกที และมีทางเลือกอื่นน้อยลงทุกขณะ

จะเห็นได้ว่า การดำเนินธุรกิจในลักษณะดังกล่าวของโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย ไม่เพียงไม่ส่งเสริมให้วงการภาพยนตร์ไทยได้เติบโตอย่างเป็นระบบเท่านั้น หากยังกัดกร่อนโอกาสที่วงการภาพยนตร์ไทยจะได้บ่มเพาะสร้างผู้ชมของตนเอง และโอกาสที่จะได้สร้างรายได้ตอบแทนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดคุณภาพของผลงานให้เติบโตทัดเทียมวงการภาพยนตร์ในต่างประเทศ ซึ่งหากปัญหานี้ยังถูกปล่อยปละละเลยโดยทุกฝ่ายต่อไป ก็ไม่ต้องสงสัยว่าวงการภาพยนตร์ไทยจะตกอยู่ในภาวะถดถอยล้าหลังประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านในเวลาอันใกล้แม้ว่าเราจะมีบุคลากรที่มีความสามารถสูงในหลากหลายด้านของงานสร้างภาพยนตร์ก็ตามที

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์จึงมีข้อเสนอดังนี้

2.1) กำหนดสัดส่วนการฉายภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์
ใน พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 9 (5) ได้กล่าวถึงอำนาจหน้าที่ของกรรมการในคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ไว้ว่า “ออกประกาศกำหนดสัดส่วนระหว่างภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์ต่างประเทศที่จะนำออกฉายในโรงภาพยนตร์ตาม (1) ของบทนิยามคำว่า “โรงภาพยนตร์” ในมาตรา 4” แต่ที่ผ่านมา มาตราดังกล่าวนี้ได้ถูกละเลยการปฏิบัติมาโดยตลอด
เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์ จึงขอเรียกร้องให้มีการกำหนดสัดส่วนการฉายภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ เพื่อสร้างสภาวะการแข่งขันทางการตลาดที่เป็นธรรมต่อผู้สร้างภาพยนตร์ทั้งหลาย โดยกำหนดให้ โรงภาพยนตร์ทุกเครือในประเทศไทยต้องจัดสัดส่วนการฉายภาพยนตร์แต่ละเรื่อง ไม่เกิน 20% ของจำนวนจอทั้งหมดของเครือนั้นๆ (ยกตัวอย่างเช่น โรงภาพยนตร์เครือ A มีจำนวนจอฉายทั่วประเทศ 100 จอ จะต้องจัดฉายภาพยนตร์แต่ละเรื่อง ไม่เกิน 20 จอต่อเรื่อง ตลอดระยะเวลาการฉาย)

2.2) กำหนดจำนวนรอบและระยะเวลาฉายสำหรับภาพยนตร์ไทย
เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์ เรียกร้องให้โรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ ต้องวางโปรแกรมการฉายให้แก่ภาพยนตร์ไทยทุกเรื่อง เป็นระยะเวลาอย่างน้อยที่สุด 2 สัปดาห์เต็ม นับตั้งแต่วันที่เริ่มฉายในโปรแกรมปกติ (ไม่นับรวมระยะเวลาการทดลองฉาย หรือที่เรียกว่ารอบ Sneak peak) และในการฉายโปรแกรมปกตินั้น จะต้องให้รอบการฉายวันละ 5 รอบเป็นอย่างน้อย ตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์ดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อให้ภาพยนตร์ไทยได้มีโอกาสสร้างรายได้ตอบแทนทันเวลา และมีโอกาสได้เพาะบ่มกลุ่มผู้ชมอย่างจริงจังต่อเนื่อง

2.3) ยกเลิกค่าธรรมเนียมการฉายระบบดิจิตอล (VPF) และ/หรือค่าธรรมเนียม/ค่าใช้จ่ายอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับระบบการฉายทั้งหมดสำหรับภาพยนตร์ทุกเรื่อง
ค่า VPF เป็นค่าชดเชยการลงทุนเปลี่ยนเครื่องฉายเป็นระบบดิจิตอลที่โรงภาพยนตร์โยนภาระให้แก่ผู้สร้างภาพยนตร์มาเป็นระยะเวลานานสมควรแก่เวลาตามสัญญาที่ถูกระบุในจุดเริ่มต้นแล้ว ดังจะเห็นได้จากการที่โรงภาพยนตร์บางแห่งได้เริ่มหยุดการเก็บค่าใช้จ่ายดังกล่าวนี้จากผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์รายใหญ่แล้ว เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์จึงเรียกร้องให้โรงภาพยนตร์ยกเลิกการเก็บค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับระบบฉายภาพยนตร์ต่างๆ (ไม่ว่าจะถูกเรียกด้วยชื่อใด) กับผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ทุกรายและกับภาพยนตร์ทั้งหมดโดยทันที

3. แก้ไขระบบผูกขาดในธุรกิจภาพยนตร์
นอกเหนือจากโรงภาพยนตร์เครือใหญ่ที่มีมีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจเกี่ยวกับการเลือกและจัดฉายภาพยนตร์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลซึ่งเป็นตลาดใหญ่แล้ว สำหรับพื้นที่ในส่วนภูมิภาคก็ยังมีระบบ “สายหนัง” ซึ่งควบคุมการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ทั้งหมดอยู่ ผลที่เกิดขึ้นจึงคือการที่โรงภาพยนตร์มีแต่ภาพยนตร์ที่ถูกเลือกเข้าฉายด้วยทัศนคติและมุมมองอันจำกัด ผู้ชมถูกทำให้อยู่ในสถานะของผู้บริโภคที่ไม่มีทางเลือกอันหลากหลายอย่างแท้จริง ยังไม่นับรวมถึงการผูกขาดที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคในส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การกำหนดราคาค่าบัตรชมภาพยนตร์ที่สูงขึ้นทุกขณะ, ราคาสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม ที่สูงขึ้นทุกขณะ, การจัดกิจกรรมเสริมของโรงภาพยนตร์ในลักษณะของการค้าซึ่งเต็มไปด้วยรายละเอียดที่ผู้บริโภคไม่อาจรู้เท่าทัน สภาพการณ์ผูกขาดทั้งหมดนี้กำลังทำลายตลาดและวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ในประเทศไทยอย่างรวดเร็ว
เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์ จึงเรียกร้องให้สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาตินำเสนอประเด็นปัญหานี้ไปสู่ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ผู้มีอำนาจตาม พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ให้เข้ามากำกับดูแลการแข่งขันทางธุรกิจภาพยนตร์ให้ดำเนินไปอย่างเป็นธรรมทั้งระบบ เพื่อประโยชน์ของทั้งผู้สร้างภาพยนตร์และผู้ชมภาพยนตร์โดยตรง

ในนามของ “เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์” จึงเรียนมาเพื่อขอเรียกร้องให้สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติในฐานะที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับวงการภาพยนตร์ไทยโดยตรง โปรดแสดงบทบาทในการผลักดันให้ข้อเรียกร้องทั้งหมดนี้ได้ถูกปฏิบัติให้เป็นจริงอย่างเร่งด่วน เพื่อนำพาวงการภาพยนตร์ไทยให้หลุดพ้นจากวิกฤติที่ร้ายแรง พร้อมๆ กับเริ่มก่อร่างสร้างวัฒนธรรมการผลิตและการชมภาพยนตร์ที่แข็งแรงและยั่งยืนในสังคมไทย

ขอแสดงความนับถือ
เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์

The post เปิดจดหมาย “ข้อเรียกร้องจากกลุ่มเครือข่ายฯ ภาพยนตร์ ต่อสมาพันธ์ภาพยนตร์ฯ” appeared first on MThai Movie.


Viewing all articles
Browse latest Browse all 1404

Trending Articles