ในวาระที่ ‘ดาวคะนอง’ ผลงานหนังยาวเรื่องที่สองของผู้กำกับ ใหม่-อโนชา สุวิชากรณ์พงศ์ จะเข้าฉายในบ้านเราอย่างเป็นทางการวันแรก (8 ธ.ค. 2559) ย้อนไปเมื่อ 6 ปีก่อน อโนชานำหนังเรื่องแรกของเธอเข้าฉายในบ้านเรา และ ‘เจ้านกกระจอก’ ก็กลายเป็นหนังไทยที่ถูกพูดถึงอย่างมาก ในแง่ของการใช้สัญลักษณ์เพื่อเล่าเรื่อง ซึ่งยังคงเป็นสิ่งที่อโนชานำใช้ในหนังเรื่องล่าสุดของเธอเช่นกัน เราจึงขอหยิบเอาบทความจากคอลัมน์คลาสสิคในนิตยสาร BIOSCOPE “symbolic corner อ่านหนังระหว่างบรรทัด” ที่ ไกรวุฒิ จุลพงศธร ได้เขียนถึง ‘เจ้านกกระจอก’ ถึงการเล่าเรื่องเชิงสัญลักษณ์เพื่อสื่อสารกับผู้ชม ก่อนที่จะไปชมผลงานล่าสุดของเธอกันในสัปดาห์นี้
**เช็ครอบฉายและข่าวสารของหนัง ‘ดาวคะนอง’ ได้ที่ www.facebook.com/daokhanongmovie

‘เจ้านกกระจอก’
กับขบวนการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ในหนังไทย (แบบไม่ได้นัดหมาย)
โดย ไกรวุฒิ จุลพงศธร
**ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “symbolic corner อ่านหนังระหว่างบรรทัด”
นิตยสาร BIOSCOPE ฉบับ 105 / สิงหาคม 2553
ช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมาช่างแตกต่างราวกับฟ้าและเหวกับช่วงที่ผมเริ่มต้นเขียนคอลัมน์นี้ เมื่อ 8 ปีก่อนผมเป็นเพียงเด็กวัยรุ่นที่เพิ่งเรียนจบโฆษณาแต่ดันชื่นชอบการตีความสัญลักษณ์ใน หนังที่เรียนรู้จากพ็อคเกตบุ๊ครวมบทวิจารณ์ของ สิทธิรักษ์ ตุลาพิทักษ์, มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์ และ ประชา สุวีรานนท์ ซึ่งได้กลายเป็นครูอย่างไม่เป็นทางการของผม ในโลกของผม ณ ช่วงเวลาดังกล่าว “สัญลักษณ์มีแต่ในหนังเท่านั้น” (แน่นอนครับว่ามันมีที่อื่นๆ ด้วย แต่ผมเลือกที่จะไม่สนใจมันเอง)
8 ปีผ่านไปมีอะไรเกิดขึ้นมากมายกับชีวิต และสัญลักษณ์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังอีกต่อไป แต่สัญลักษณ์อยู่กลางถนน และมิใช่ผม คนเดียวที่ตระหนัก เพราะดูเหมือนสังคม ‘ทุกฝ่าย’ ค่อยๆ เรียนรู้ว่าการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์เป็นการต่อสู้ที่สำคัญที่สุดในวินาทีนี้ (ดูอย่างกรณีที่คนเสื้อแดงพยายามจะไปพันผ้าสีแดงที่ป้ายถนนราชประสงค์, ต่อมาก็มีกำลังตำรวจจำนวนมากมาเฝ้าป้ายดังกล่าว, และหนักข้อขึ้นไปอีกเมื่อป้ายดังกล่าวได้ถูกเจ้าหน้าที่ถอดทิ้งไปเลย, ลงท้ายด้วยเอาป้ายมาติดตั้งใหม่พร้อมคำอธิบายว่านำป้ายไปทำความสะอาดเนื่องจากมีคนมาฉีดสีพ่นทับตัวอักษร) สังคมค่อยๆ เรียนรู้ (ผมหวังอย่างนั้น) ว่าการต่อสู้ด้วยพละกำลังหรือการต่อสู้แบบ ถอนรากถอนโคนซึ่งมักมากับกระบวนทัศน์ ‘สงครามครั้งสุดท้าย’ นั้นไม่มีอยู่จริง สงครามไม่มีวันจบลงง่ายๆ ยุทธศาสตร์ต่อไปคือการต่อสู้อย่างต่อเนื่องและยืดยาว การช่วงชิงความหมายเชิงสัญลักษณ์จึงกลายเป็นสมรภูมิอย่าง ไม่เป็นทางการ นักสัญศาสตร์จึงกลายเป็นบุคคลสำคัญของสังคม เพราะพวกเขามีหน้าที่คุ้ยเขี่ย กัดเซาะ สร้าง และตีความสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อ ‘ทำลาย’ หรือ ‘ตอกย้ำ’ วาทกรรมที่แต่ละฝ่ายผลิตขึ้นมา

คนทำหนังอิสระทั้งหมดมิได้จงใจทำหนังการเมืองล้วนๆ
แต่มันเป็น ‘หนังส่วนตัว’ ที่มีประเด็นการเมืองหลอมรวมอยู่กับประเด็นส่วนตัวอื่นๆ
สิ่งที่พัวพันกับการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ในขณะนี้ก็คือการช่วงชิง ‘พื้นที่’ ‘เวลา’ และ ‘ความทรงจำ’ ดูตัวอย่างจากการพันผ้าแดงที่ป้ายราชประสงค์ แม้จะเป็นพื้นที่ไม่กี่ตารางเมตร แต่ก็มีความหมายเชิงสัญลักษณ์สุดทรงพลัง เพราะมันเป็นการแย่งชิงพื้นที่ ความทรงจำและการรับรู้ของสังคม ในขณะที่ฝ่ายหนึ่งพยายามจะ ‘ลบเลือน’ ความทรงจำนี้ทิ้งไป อีกฝ่ายก็พยายามจะ ‘ย้ำเตือน’ มิให้ความทรงจำจางหาย แน่นอนว่าการต่อสู้นี้ขึ้นอยู่กับบริบทเวลา หากมิได้ต่อสู้อย่างต่อเนื่อง สุดท้ายความทรงจำดังกล่าวก็จะบิดเบือน และหลุดหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ และกลายเป็น “ความทรงจำส่วนบุคคล” หรือของคนกลุ่มย่อยๆ ไปแทน
นอกจาก พื้นที่ เวลา และความทรงจำ จะเป็นองค์ประกอบสำคัญของการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ในขณะนี้แล้ว มันยังเป็นองค์ประกอบขั้นพื้นฐานของศิลปะภาพยนตร์อีกด้วย หากเมื่อ 8 ปีก่อนผมตื่นเต้นกับงานของคนทำหนังอย่าง วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง, นนทรีย์ นิมิบุตร และ เป็นเอก รัตนเรือง ที่ทำให้เกิดการบูมของหนังไทยร่วมสมัยในช่วงเวลานี้ผมก็ตื่นเต้นกับกลุ่มคนทำหนังบนดินและใต้ดิน –ไม่ว่าจะมีแนวคิดทางการเมืองแบบใดก็ตาม- แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาพยายามโต้ตอบกับสังคมด้วยการสร้างงานที่เล่นกับพื้นที่ เวลา และ ความทรงจำ ผ่านระบบสัญลักษณ์ที่งัดข้อก่อกวนกับวาทกรรมหลัก ผมกำลังหมายถึงหนังอิสระอย่าง ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, ‘บริเวณนี้อยู่ภายใต้การกักกัน’ และ ‘จุติ’ ของ ธัญสก พันสิทธิวรกุล, ‘เจ้านกกระจอก’ ของ อโนชา สุวิชากรณ์พงศ์ ไปจนถึงหนังสั้นของ ปราปต์ บุนปาน, เฉลิมเกียรติ แซ่หย่อง หรืองานในอนาคต (แน่นอนว่าผมยังไม่ได้ดู แต่มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเล่นกับการเปรียบเปรยเชิงการเมือง) ทั้ง ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ ของ สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์, ‘The Dog ชิงหมาเกิด’ ของ พงษ์พัฒน์ วชิระบรรจง และ ‘14’ ของ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล แน่นอนว่าคนเหล่านี้ไม่ได้นัดกัน และไม่ได้มีอุดมการณ์ การเมืองเดียวกัน แต่การปรากฏของผลงานเหล่านี้ใน ช่วงเวลาไล่เลี่ยกันก็เป็นขบวนการหนังสัญลักษณ์ที่น่าจับตาอย่างยิ่ง (**อัพเดต จนถึงปัจจุบัน ‘14’ ยังไม่ได้ถูกผลิตขึ้น ส่วนอย่างที่ทราบกันคือ ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ กลายเป็นหนังที่โดนแบนในบ้านเราไป)

หน้าที่หนักของนักวิจารณ์ ก็คือการเขียนตีความสิ่งเหล่านี้โดยแย้มพรายความหมายระหว่างบรรทัดออกมาเท่าที่จะทำได้ นี่คือสิ่งที่นักวิจารณ์ต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำ สุดท้ายแล้วระบบสัญลักษณ์ที่เนรมิตกันมาก็จะ ‘ฝ่อ’ ไป เพราะขาดการขยายความ
คนทำหนังรุ่น เพิ่มพล เชยอรุณ หรืองานยุครุ่งเรืองของ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล มุ่งสะท้อนสังคมด้วยการตีแผ่อย่างตรงไปตรงมาหรือมีสัญลักษณ์ที่โดดเด่นเห็นชัด แต่ขบวนการหนังบนดินและใต้ดินยุคปัจจุบัน (แบบไม่ได้นัดหมาย) มิได้เดินบนเส้นทางนั้น หากไม่นับงานของพงษ์พัฒน์และชูเกียรติ (ซึ่งผมยังไม่ได้ดู) คนทำหนังที่เหลือซึ่งเป็น คนทำหนังอิสระทั้งหมดมิได้จงใจทำหนังการเมืองล้วนๆ แต่มันเป็น ‘หนังส่วนตัว’ ที่มีประเด็นการเมืองหลอมรวมอยู่กับประเด็นส่วนตัวอื่นๆ นำเสนอผ่านสุนทรียะเฉพาะตัวและระบบสัญลักษณ์ที่แนบเนียนและแพรวพราวเกินกว่ายุคของเพิ่มพลไปแล้ว ซึ่งต้องอาศัยพื้นฐานความ เข้าใจและการสั่งสมสุนทรียะของภาพยนตร์โลกร่วมสมัยในระดับหนึ่ง มันจึงเป็นเรื่องง่ายที่คนทำหนังกลุ่มนี้จะถูกป้ายข้อหาจากคนดูว่า “ดูไม่รู้เรื่อง” หรือ “เข้าใจยาก” แต่ขณะเดียวกัน ภายใต้สังคมไทยอันแสนเคร่งครัดในยุคสมัยของการจำกัดจำเขี่ยทางความคิดเห็น การ ‘ดูไม่รู้เรื่อง’ และ ‘เข้าใจยาก’ ก็กลับกลายเป็นเกราะป้องกันตัวผู้สร้างเอง พวกเขาจึงสามารถสร้างงานที่ ‘เตะเฉียด’ ประเด็นอ่อนไหวต่างๆ ผ่านเนื้องานและสัญลักษณ์ที่แนบเนียนหรือแปลกพิศวงได้ เช่น หากอภิชาติพงศ์สร้างหนังเกี่ยวกับวันเสียงปืนแตกโดยตรงก็คงโดนแบน แต่การสร้างโดยผสมสุนทรียะของหนังส่วนตัวและเนื้อหาการเมืองเชิงสัญลักษณ์แยบยลก็ทำให้หนังออกสู่สังคมได้ (ในกรณีของอภิชาติพงศ์และอโนชานั้น ความพิศวงของสัญลักษณ์ยังกลายเป็น ‘ปริศนา’ และ ‘ความลึกลับ’ ที่ทำให้คอหนังศิลปะในต่างชาติอ่านงานของพวกเขาในความหมายอื่นๆ ได้อีกด้วย) กลายเป็นว่าในพื้นที่เล็กๆ อย่างหนังอิสระ กลับมีระดับเพดานการแสดงความคิดเห็นที่สูงกว่าปกติ ทว่าพื้นที่ดังกล่าวก็เล็ก เล็กมาก หรือเล็กที่สุดจนแทบจะไม่มีเสียงเล็ดรอดออกไปให้เกิดการพูดคุยในวงกว้าง นักวิจารณ์และนักดูภาพยนตร์ (cinephile) คือฟันเฟืองที่เข้ามามีบทบาทในจุดนี้ แต่ลำพังนักวิจารณ์เองก็ทำงานได้ไม่มีประสิทธิผล ตั้งแต่ติดอยู่ในระบบ มีพื้นความรู้ที่ทำให้อ่านงานเหล่านี้ไม่ขาดพอ รวมถึงต่อให้อ่านได้แต่จะเขียนได้ชัดเจนมากขนาดไหน หน้าที่หนักของนักวิจารณ์ ก็คือการเขียนตีความสิ่งเหล่านี้โดยแย้มพรายความหมายระหว่างบรรทัดออกมาเท่าที่จะทำได้ นี่คือสิ่งที่นักวิจารณ์ต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำ สุดท้ายแล้วระบบสัญลักษณ์ที่เนรมิตกันมาก็จะ ‘ฝ่อ’ ไป เพราะขาดการขยายความ
‘เจ้านกกระจอก’ เป็นตัวอย่างชั้นดีของสิ่งที่ผมได้พูดไป อโนชาและ ลี ชาตะเมธีกุล (มือตัดต่อ) จงใจก่อกวนพื้นที่ เวลา และ ความทรงจำด้วยการเล่าหนังโดยไม่เรียงลำดับเวลา (เหมือนหนังเรื่อง 21 Grams) เมื่อผนวกกับชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ (Mundane History) ก็คลับคล้ายท่วงท่าปรัชญาแบบพังค์ๆ ที่โจมตีประวัติศาสตร์ทางการที่เล่าเรื่องแบบเรียงตามลำดับเวลา (หรืออำนาจแนวดิ่ง) และให้คุณค่ากับประวัติศาสตร์ส่วนบุคคลที่มาในรูปแบบของความทรงจำที่ย่อมวูบวาบ ไม่เรียงลำดับก่อนหลัง (หรืออำนาจแนวระนาบ)

‘เจ้านกกระจอก’ เป็นการบันทึก ‘ห้วงอารมณ์’ ของพ.ศ.นี้อย่างทันท่วงทีก่อนที่ห้วงอารมณ์นี้จะแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น หนังมิได้เปรียบเปรยอย่างงดงามเท่านั้น แต่ยังล้ำลึกด้วย เมื่อพ่วงเอาเรื่องของอารยธรรม ธรรมมะ และวิทยาศาสตร์มาอธิบาย
เราอ่านหนังได้อย่างน้อยสองระดับ ระดับแรกคือเชื่อไปตามเรื่องว่ามันเป็นเรื่องของบุรุษพยาบาลที่ต้องเข้ามาดูแลเด็กหนุ่มพิการ ลูกผู้ดีเก่าที่ไม่ลงรอยกับพ่อผู้แสนดี เขาถูกแวดล้อมไปด้วยแม่บ้านและคนใช้ แล้วความสัมพันธ์ของบุรุษพยาบาลและเด็กหนุ่มจากที่ตึงเครียด ก็ค่อยๆ อ่อนลงและกลายเป็นความอ่อนโยนระหว่างสองมนุษย์ ระดับที่สองคือการตั้งคำถามว่า ทั้งหมดนี้คืออุปลักษณ์ (metaphor) ของสังคมไทยในยุคพ.ศ.นี้ นี่คือสังคมไทยที่ในอดีตเคยรุ่งเรืองและงามงด (จากสภาพบ้านที่เป็นผู้ดีเก่า, คำอธิบายว่าคุณพ่อเป็นคนแสนดี) แต่ปัจจุบันกลับเป็นสังคมที่รุนแรง เปลี่ยนแปลง และไร้อนาคต (เด็กหนุ่มพิการ, เอาแต่ใจ, อารมณ์เกรี้ยวกราด, รักษาไปก็เปล่าประโยชน์, ไม่สามารถสืบพันธุ์ได้) และมันก็ยังเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยชนชั้น (มีการแบ่งการกินข้าวอย่างชัดเจน เจ้านายกินชั้นบน บ่าวไพร่กินชั้นล่าง แถมยังมีบ่าวไพร่ที่ทำตัวประหนึ่งเจ้านาย หรืออาจมีอะไรกับเจ้านายด้วยซ้ำ) ผมไม่ได้บอกว่าสังคมไทยไร้ความหวัง หรือคนทำหนังเรื่องนี้จะบอกว่า สังคมไทยสิ้นหวัง แต่หนังเรื่องนี้เป็นการบันทึก ‘ห้วงอารมณ์’ ของพ.ศ.นี้ อย่างทันท่วงทีก่อนที่ห้วงอารมณ์นี้จะแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น

หนังมิได้เปรียบเปรยอย่างงดงามเท่านั้น แต่ยังล้ำลึกด้วยเมื่อพ่วงเอาเรื่องของอารยธรรม ธรรมะ และวิทยาศาสตร์มาอธิบาย หนังพูด ถึงอารยธรรมในฉากเดินดูรูปจำลองของอารยธรรมต่างๆ (ซึ่งรุ่งโรจน์และ มอดม้วยไปแล้ว) ในท้องฟ้าจำลอง และยังพูดถึงพุทธธรรมผ่านตัวคนใช้ที่สบถขึ้นมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยว่า “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” ในแง่วิทยาศาสตร์มีการอธิบายเรื่องจุดจบของดาว อโนชาลากให้ทุกอย่างมารวมกัน เหมือนกับภาพโปสเตอร์หนังที่เหมือนรูปปริศนา มันเป็นทั้งดวงตา ของเด็กหนุ่มผู้พิการไร้ความหวัง เป็นทั้งดาวฤกษ์สุกสว่างที่กำลังจะแตกดับ และเป็นทั้งดวงตาของคนทำหนังที่จับจ้องความล่มสลายของยุคสมัย
อารยธรรมมีวันสิ้นสุด เกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องสามัญ และหากดาวอันใหญ่ยักษ์ยังมีวันดับได้ นับประสาอะไรกับอารยธรรม, ประเทศชาติ, คนรุ่นหนึ่ง, มนุษย์ที่ยิ่งใหญ่หรือต่ำต้อยเพียงใด หรือแม้กระทั่งเซลล์อณูหนึ่ง ก็ต้องมีวันดับสิ้นไปทั้งนั้น แต่เมื่อมีวันดับสิ้น ก็มีวันกำเนิดใหม่ และหลังจากประวัติศาสตร์ของโลก / อารยธรรม / ประเทศ / ครอบครัว ที่ผ่านมาถูกเดินหน้าด้วยบุรุษเพศ ผู้กำกับเพศหญิงที่เล่าสงครามระหว่างเพศชายมาเกือบ 80 นาทีได้แย้มนัยว่า บทใหม่ของประวัติศาสตร์จะเริ่มด้วยสตรีเพศเสียที
…
ติดตามข่าวสารและเทรนด์หนังจากทั่วทุกมุมโลกได้ที่ facebook : BIOSCOPE Magazine
The post ก่อนชม ‘ดาวคะนอง’ ย้อนดู ‘เจ้านกกระจอก’ บทบันทึกเชิงสัญลักษณ์ในหนังไทยของ ใหม่-อโนชา appeared first on MThai Movie.